งานวิจัยของนักบรรพชีวินวิทยาจีน จากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน(CAS) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Stratigraphy วารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติของจีน ระบุว่า ลุ่มน้ำแยงซีทางใต้ของจีนเคยเป็นมหาสมุทรเมื่อประมาณ 438 ล้านปีก่อน
โดยนักวิจัยได้ศึกษาฟอสซิลปลาสายพันธุ์ยูจาเลียสปิฟอร์ม (Eugaleaspiform) ซึ่งเป็นปลาที่ไม่มีขากรรไกร พบได้ในทะเลยุคไซลูเรียน (Silurian) เมื่อประมาณ 443-416 ล้านปีก่อน ทำให้เชื่อมโยงได้ว่า พื้นที่แห่งนี้น่าจะเคยเป็นมหาสมุทรในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งยังสอดคล้องกับในสมัยก่อนที่มักมีการเรียกชื่อ ทะเลแยงซีตอนบน และ ทะเลแยงซีตอนล่าง
รวมทั้ง ก่อนหน้านี้ยังเคยมีการศึกษาถึงสภาพทางธรณีวิทยาใน 50 มณฑล 10 จังหวัดและภูมิภาคริมแม่น้ำแยงซี รวมถึงเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยนักวิจัยได้ค้นพบซากดึกดําบรรพ์ของปลาสายพันธุ์ยูจาเลียสปิฟอร์มบางส่วนและหินสีแดง ในพื้นที่ที่เชื่อว่าเคยเป็นทะเลในยุคไซลูเรียนอีกด้วย
ด้าน Shan Xianren นักวิจัยกล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการยืนยันว่า เมื่อประมาณ 438 ล้านปีก่อน พื้นที่ผืนใหญ่บริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเคยเป็นทะเลตื้น หรือ มหาสมุทร ซึ่งจะเป็นการช่วยต่อยอดเรื่องการศึกษาขอบเขตของทะเลแยงซีในอดีตต่อไป
ที่มา: China Media Group