จีนวันนี้ได้ชื่อเป็นเจ้าเทคโนโลยีการรถไฟระดับโลกแล้ว ข้อมูลเมื่อปลายปี 2021 ระบุว่า เส้นทางรถไฟที่เปิดบริการทั่วประเทศจีน มีความยาวมากกว่า 150,000 กิโลเมตร รวมทั้งเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่มีความยาวรวมกันกว่า 40,000 กิโลเมตร จีนยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟทั่วโลกถึงประเทศพัฒนาในโลกตะวันตก อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงในสหรัฐฯ และในอังกฤษ
ด้วยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีก่อสร้างทางรถไฟจากช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ทำให้จีนสามารถก่อสร้างทางรถไฟสายยาวแล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ทางรถไฟเชื่อมกรุงปักกิ่งในแผ่นดินใหญ่ไปถึงเกาลูนในฮ่องกง ระยะทางยาว 2,553 กิโลเมตร สร้างเสร็จภายในเวลา 3 ปี เส้นทางรถไฟจากเซี่ยงไฮ้ไปถึงคุนหมิงในยูนนาน ความยาว 2,252 กิโลเมตร ก่อสร้างและเชื่อมต่อแล้วเสร็จภายใน 7 ปี เป็นต้น
สำหรับเส้นทางรถไฟที่สร้างแล้วเสร็จล่าสุด เป็นเส้นทางรถไฟเชื่อมเมืองในมณฑลอวิ๋นหนัน หรือยูนนานทางภาคตะวันตกเฉียงใต้จีน คือเส้นทางรถไฟจากเมืองต้าหลี่ไปถึงเมืองเป่าซัน ระยะทางเพียงแค่ 133 กิโลเมตร โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟจากเมืองต้าหลี่ไปถึงเมืองรุ่ยลี่ ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศพม่า เส้นทางรถไฟต้าหลี่-รุ่ยลี่ มีความยาวทั้งสิ้น 330 กิโลเมตร เป็นทางระบบไฟฟ้าที่ออกแบบมาสำหรับขบวนรถไฟอัตราเร็ว 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สื่อจีนเปิดเผยงบก่อสร้างทางรถไฟต้าหลี่-รุ่ยลี่ เท่ากับ 25,730 ล้านหยวน
จีนได้เปิดใช้เส้นทางรถไฟช่วงต้าหลี่-เป่าซานอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปิดหน้าประวัติศาสตร์เขตที่ไร้ทางรถไฟของเมืองเป่าซันไปด้วย
การเดินทางโดยรถยนต์จากเมืองต้าหลี่ไปเป่าซานใช้เวลา 2.5 ชั่วโมง ส่วนการเดินทางโดยทางรถไฟที่เพิ่งเปิดใช้นี้ใช้เวลาแค่ราว 1 ชั่วโมง และหากนั่งรถไฟจากคุนหมิงไปเป่าซานใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น
แม้ทางรถไฟต้าหลี่-เป่าซาน มีระยะทางแค่ 100 กว่ากิโลเมตร แต่ก็ทำสถิติงานก่อสร้างที่ยากลำบากและเสี่ยงอันตรายมากที่สุดของจีนและของโลกก็ว่าได้ ดังนั้นจึงใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 14 ปี!
การก่อสร้างต้องตัดผ่านเขตเทือกเขา อีกทั้งธรณีสัณฐานที่มีความซับซ้อน โดยต้องขุดอุโมงค์ทะลุทะลวงภูผาสูงชันเหวลึกของเทือกเขาเหิงต้วน ซึ่งมีรอยเลื่อยใหญ่ 6 จุด สร้างสะพานข้ามแม่น้ำใหญ่ 4 สาย เช่น อั้งปี้ อิ่นเจียง และหลันชาง (หรือตอนบนของแม่น้ำโขงที่อยู่ในจีน) บุกฝ่าอุปสรรคในพื้นที่ต่างๆ ทั้งเขตพลังงานความร้อนใต้พิภพ และเขตความเสี่ยงแผ่นดินไหว (high geothermal heat and seismic activity)
สื่อจีนสำนักข่าวซินหัว ระบุว่า ร้อยละ 87 ของเส้นทางรถไฟต้าหลี่-เป่าซานเป็นสะพานและอุโมงค์ ได้แก่ สะพาน 34 แห่ง และอุโมงค์ 21 แห่ง ชาวจีนเรียกขานว่าทางรถไฟช่วงนี้เป็น “ทางรถไฟใต้ดินของเทือกเขา” หรือ “อุโมงค์รถไฟ” เนื่องจากทางรถไฟส่วนใหญ่เป็นอุโมงค์ที่นับความยาวรวมกันได้เท่ากับ 103 กิโลเมตร
สื่อจีนบรรยายถึงการก่อสร้างที่ยากลำบากสุดหินของเส้นทางรถไฟต้าหลี่-เป่าซานถึงขนาดน้ำตาตกกัน คนงานใช้เวลาถึง 26 เดือน หรือกว่า 2 ปี สามารถขุดอุโมงค์ไปได้ราว 156 เมตร... 13 ปี ขุดได้อุโมงค์เดียว! เท่ากับเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างเขื่อนสามโตรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก!
เพื่อ…?
การบรรลุการผุดทางรถไฟต้าหลี่-เป่าซานนี้ ถือขั้นบันไดสำคัญที่จะผลักดันการสร้างเส้นทางรถไฟทรานส์-เอเชีย (Trans-Asian railway ชื่อย่อ TAR) เส้นทางรถไฟในภูมิภาคตะวันตกจีนที่จะเชื่อมจีนกับประเทศพม่า
สื่อของทางการจีน ระบุว่า ในอนาคตจะมีการขนส่งสินค้าต่างๆ รวมถึงวัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จากพื้นที่ต่างๆ มายังเมืองเป่าซานผ่านทางรถไฟอย่างรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของประชาชนตามรายทาง อีกทั้งส่งออกไปยังประเทศพม่า และที่อื่นๆ ส่วนสินค้านำเข้าและผลิตผลการเกษตรในพื้นที่รายทางรถไฟจะถูกขนไปขายทั่วประเทศและต่างประเทศได้ด้วย
นี่คือการทุ่มเทอย่างน่าทึ่งของจีน! ในการฟื้นเส้นทางสายไหมยุคโบราณ ขึ้นมาในเวอร์ชันเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ภายใต้กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจการค้า ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’
Dali-Baoshan railway to start operations on Friday,as the China-Myanmar international rail corridor achieves a major breakthrough
大瑞铁路大保段开通,古丝路迈入动车时代
Firststage of China - Myanmar rail link opens
大瑞铁路
คลิปโดยสำนักข่าวซินหัว : การก่อสร้างทางรถไฟต้าหลี่-รุ่ยลี่ ช่วงเส้นทางต้าหลี่-เป่าซาน
คลิปข่าวจากภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG) : 14 ปีแห่งการสร้างทางรถไฟจีน-พม่า เส้นทางที่ยากที่สุด