รอยเตอร์ - ฟ็อกซ์คอนน์ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติไต้หวัน ถูกรัฐบาลของตัวเองเพ่งเล็งหนักกรณีเข้าไปลงทุนในกลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิปของจีน โดยไม่ได้ยื่นเรื่องขออนุมัติเสียก่อน
แหล่งข่าววงใน 2 ราย เปิดเผยกับรอยเตอร์เมื่อวันศุกร์ (15 ก.ค.) ว่า รัฐบาลไต้หวันกำลังพิจารณาที่จะสั่งปรับฟ็อกซ์คอนน์เป็นเงินสูงสุดถึง 25 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 30 ล้าน 5 แสนบาท) หลังจาก
บริษัทออกมาระบุว่า ได้เข้าถือหุ้นใน “ชิงหวายูนิกรุ๊ป” (Tsinghua Unigroup) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิปแดนมังกร โดยเป็นการลงทุนผ่านบริษัทในเครือ จำนวน 5,380 ล้านหยวน (ประมาณ 29,159 ล้านบาท)
การเข้าถือหุ้นครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลไต้หวันกำลังวิตกกังวลเรื่องที่จีนเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จึงได้มีการออกกฎหมายใหม่ๆ หลายฉบับ เพื่อป้องกันการขโมยเทคโนโลยีการผลิตชิป ซึ่งมีความล้ำหน้าของไต้หวัน โดยฟ็อกซ์คอนน์มิได้ยื่นเรื่องขอการอนุมัติจากรัฐบาลไต้หวัน ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลความสัมพันธ์กับจีน
ด้านฟ็อกซ์คอนน์ระบุว่า จะส่งมอบเอกสารการลงทุนใน “ชิงหวายูนิกรุ๊ป” ให้แก่คณะกรรมการพิจารณาการลงทุนของกระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่า ในการตรวจสอบของคณะกรรมการ ฟ็อกซ์คอนน์ยังมีโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติด้วยเช่นกัน แต่ถ้าเป็นตรงกันข้าม ฟ็อกซ์คอนน์ต้องถอนการลงทุนครั้งนี้
กฎหมายของไต้หวันกำหนดให้รัฐบาลมีอำนาจยับยั้งการลงทุนในจีน หากการลงทุนนั้นส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและการพัฒนาอุตสาหกรรมของไต้หวัน และรัฐบาลไทเปห้ามบริษัทของไต้หวันไปสร้างโรงงาน ซึ่งมีการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในจีนอย่างเด็ดขาด
ฟ็อกซ์คอนน์เป็นบริษัทผู้รับจ้างผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นที่รู้จักกันดีในการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนและประกอบเครื่องไอโฟนให้บริษัทแอปเปิล ขณะนี้ฟ็อกซ์คอนน์กำลังมุ่งมั่นการผลิตชิปรถยนต์ และขยายการผลิตเข้าไปในตลาดรถไฟฟ้า นอกจากนั้น กำลังหาทางตั้งโรงงานผลิตชิปทั่วโลก ในภาวะที่กำลังเกิดปัญหาการขาดแคลนชิป ซึ่งกระทบต่อผู้ผลิตสินค้า ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
สำหรับ “ชิงหวายูนิกรุ๊ป” เป็นบริษัทในเครือ “ชิงหวา โฮลดิงส์” (Tsinghua Holdings) ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของมหาวิทยาลัยชิงหวา ในกรุงปักกิ่ง ก่อตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์มุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมชิปที่ล้าหลังของจีน แต่ภายใต้การบริหารของประธาน เจ้า เว่ยกั๋ว ทำให้บริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว จนผิดนัดชำระหนี้เมื่อปลายปี 2563 และล้มละลายในที่สุด