ปักกิ่งไม่รังเกียจโครงการริเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกของจี 7 แต่อัดยับเจตนาแท้จริงของสหรัฐฯ ที่ผุดโครงการนี้ขึ้นมา
หลังจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และผู้นำชาติอื่น ๆ ในกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ จี 7 เปิดตัวโครงการ “ความร่วมมือเพื่อโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนทั่วโลก” (Partnership for Global Infrastructure and Investment : PGII) ระหว่างประชุมสุดยอดประจำปีที่เยอรมนี เมื่อวันอาทิตย์ (26 มิ.ย.) โดยตั้งเป้าหมายระดมเงินทุนสำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในชาติกำลังพัฒนาให้ได้ 6 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2570 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า
นาย จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนแถลงในวันถัดมาว่า จีนยินดีต้อนรับทุกโครงการ เพื่อส่งเสริมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก และไม่ถือสาว่า เป็นเรื่องของการผุดโครงการ เพื่อมาแทนที่โครงการอื่น
แต่จีนคัดค้านการคำนวณวางแผนเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ที่นำการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นข้ออ้าง อีกทั้งคัดค้านการกระทำและคำพูด ที่พยายามใส่ร้ายป้ายสีโครงการริเริ่มสายแถบและเส้นทาง หรือ เบลต์แอนด์โรด ( Belt and Road Initiative) ของจีน
เป็นการตอกกลับ หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้หนึ่งของสหรัฐฯ ระบุว่า โครงการ PGII จะมาทดแทนโมเดลโครงสร้างพื้นฐาน ที่ขาย “กับดักหนี้” ให้กับชาติอื่น เป็นข้อกล่าวหาเดิม ๆ ที่วอชิงตันชอบใช้โจมตีนโยบายต่างประเทศของพญามังกร โดยนายจ้าวย้อนกลับว่า วอชิงตัน ต่างหากคือผู้สร้างกับดักหนี้ตัวพ่อ ไม่ว่าการกำหนดนโยบายการเงินแบบขยายตัว ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืม การสร้างนวัตกรรมการเงิน ที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย การทำ short-selling ที่ประสงค์ร้าย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างภาระหนี้ให้กับชาติกำลังพัฒนาทั้งสิ้น
“ไม่ว่าจะเป็นโครงการ B3W หรือโครงการอะไรก็ตาม ประชาคมโลกต้องการเห็นเม็ดเงินและโครงการตัวเป็นๆ ซึ่งจะก่อประโยชน์แก่ผู้คนอย่างแท้จริง” นายจ้าวแย็บอีกหมัดแหย่รัฐบาลไบเดน กรณีไม่สามารถระดมเงินทุนเข้าโครงการริเริ่มแรก
ทั้งนี้ มีการมองกันว่า PGII คือการปัดฝุ่นโครงการ “สร้างโลกให้กลับมาดีกว่าเดิม” (Build Back Better World : B3W) ซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้ริเริ่ม แข่งกับ “เบลต์แอนด์โรด” และประกาศในการประชุมสุดยอดจี 7 ที่อังกฤษเมื่อหนึ่งปีก่อน แต่สะดุดปัญหาเรื่องเงินทุน และการแข่งขันกับโครงการอื่น ๆ ของตะวันตกเอง เช่นโครงการ “ประตูสู่โลก” (Global Gateway) ของสหภาพยุโรป
ในการแถลงกรอบนโยบายเกี่ยวกับจีนของรัฐบาลไบเดนเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา นาย แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ เคยพูดถึงการฟื้นฟูโครงการนี้ว่า จะเป็นวิธีการ ที่โปร่งใส มีมาตรฐานสูง และประสานงานกัน เพื่อตอบโจทย์ให้กับชาติกำลังพัฒนา ซึ่งมีความต้องการโครงสร้างพื้นฐานอย่างมหาศาล แต่ปักกิ่งเรียกโครงการภายใต้แบรนด์ใหม่ของไบเดนว่า เป็นวิธีการแบบเกมผลรวมเป็นศูนย์ (zero-sum game approach) ซึ่งเป็นการแข่งขันแบบใครดีใครได้และจะมีแต่ผู้แพ้กับผู้ชนะเท่านั้น
ด้านมุมมองของนักวิเคราะห์ นาย สือ อินหง ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยเหรินหมินกรุงปักกิ่งระบุว่า ชาติตะวันตกปัดฝุ่นโครงการแข่งกับจีนในเวลาที่ “เบลต์แอนด์โรด” มาถึงจุดตกต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเตือนว่า ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจแดนมังกร ซึ่งยังถูกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และการสู้รบในยูเครนโถมทับ อาจทำให้โครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจีนตึงมือมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการต้านอิทธิพลของสหรัฐฯ โดยนายสือระบุว่า “เบลต์แอนด์โรด” หดตัวมาตั้งแต่ปี 2561 ดังนั้นจีนไม่ควรประมาท หรือด้อยค่า โครงการ ที่ไบเดนปัดฝุ่น
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ของจีนอีกหลายคนเห็นต่าง โดยมองโครงการริเริ่มของชาติตะวันตกว่า เป็นแค่ "เหล้าเก่าในขวดใหม่" รายละเอียดของโครงการก็ยังไม่ชัดเจน เช่น ชาตีจี 7 จะร่วมกันทำ หรือแยกเป็นการลงทุนอิสระภายใต้ชื่อโครงการริเริ่มเดียวกัน นอกจากนั้น ในภาวะเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ขณะนี้ การระดมเงินของไบเดนและชาติยุโรป เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย คงไม่ง่ายเหมือนพูด
ข้อมูลจาก “China hits back at US over G7 'zero-sum' belt and road alternative” ในเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์