xs
xsm
sm
md
lg

จีนยิ้มแต่สหรัฐฯ หน้าแหก เนปาลไม่หลงกลเข้าร่วมยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน
จีนยกย่องเนปาลชาติเพื่อนบ้านแดนเทือกเขาหิมาลัย ที่ปฏิเสธเข้าร่วมโครงการความร่วมมือกับสหรัฐฯ เพราะเกรงถูกดึงเข้าไปมีเอี่ยวกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

เมื่อวันจันทร์ (20 มิ.ย.) รัฐบาลเนปาลประกาศการตัดสินใจไม่เข้าร่วมในโครงการความเป็นหุ้นส่วนแห่งรัฐ (State Partnership Programme : SPP) ของสหรัฐฯ หลังจากมีเสียงคัดค้านในประเทศ


นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนแถลงเมื่อวันพฤหัสฯ (23 มิ.ย.) ว่า เนปาลมอง SPP เป็นโครงการริเริ่มด้านการทหารและความมั่นคง ซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐฯ ยุทธศาสตร์นี้ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและการดำเนินโยบายต่างประเทศที่ไม่เอนเอียงหรือฝักฝ่ายใด ซึ่งเนปาลยึดถือมาช้านาน

 
ในฐานะมิตรประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับเนปาล จีนขอยกย่องการตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาลเนปาล” นายหวังกล่าวต่อผู้สื่อข่าว
 
เขาระบุด้วยว่า จีนจะสนับสนุนการธำรงรักษาอธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของเนปาลต่อไป ตลอดจนสนับสนุนการยึดมั่นต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของเนปาล โดยจีนพร้อมทำงานกับเนปาลในการปกป้องเสถียรภาพความมั่นคงและความมั่งคั่งรุ่งเรืองร่วมกันในภูมิภาค

 
การตัดสินใจของเนปาลทำให้สหรัฐฯ ที่พยายามขยายอิทธิพลด้านความมั่นคงเข้ามาในภูมิภาคเอเชียใต้ ภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกต้องหน้าแตก

โครงการความเป็นหุ้นส่วนแห่งรัฐ เป็นโครงการความร่วมมือของสำนักงานหน่วยรักษาดินแดนแห่งสหรัฐฯ (US National Guard Bureau) ก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ.2533-2542) เพื่อเชื่อมความร่วมมือกับชาติอดีตสาธารณรัฐโซเวียต และปัจจุบันเป็นเครื่องมือสำคัญของสหรัฐฯ ในการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับชาติต่างๆ โดยมี 93 ชาติเข้าร่วม


เมื่อปี 2558 เนปาลประสบแผ่นดินไหวสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ จึงยื่นใบสมัครขอเข้าร่วม SPP ในปีนั้น เพราะต้องการได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และได้รับการอนุมัติใบสมัครในปีถัดมา
 
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดรัฐบาลเนปาลก็ตัดสินใจไม่ไปต่อ โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่า เมื่อเดือน เม.ย. พล.ต.ไมเคิล เทอร์ลีย์แห่งสำนักงานหน่วยรักษาดินแดนรัฐยูทาห์ เดินทางเยือนเนปาล และได้มอบร่างข้อตกลง SPP แก่นายกรัฐมนตรีเชอร์บาฮาดูร์ ดูบา และ พล.อ.ประภูราม ชาร์มา เสนาธิการของกองทัพเนปาล


ตามด้วยการมาเยือนของ พล.อ.ชาร์ลส์ ฟลินน์ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ซึ่งทำให้เกิดการคาดเดากันว่า เนปาลอาจเข้าร่วม SPP ในไม่ช้า

 
แม้ SPP ดูเหมือนมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายในเนปาล ซึ่งวิตกกันว่า มีแนวโน้มเป็นความร่วมมือด้านการทหาร เมื่อพิจารณาจากเแถลงการณ์ของสำนักงานหน่วยรักษาดินแดนแห่งสหรัฐฯ ในเว็บไซต์ ซึ่งสรุปเนื้อหาได้ว่า จะมีการร่วมมือระหว่างกองทัพกับกองทัพผ่าน SPP เพื่อสนับสนุนการปกป้องความมั่นคงด้านต่างๆ และเป็นความร่วมมือที่ก่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจและสังคมด้วย


ทั้งนี้ ปักกิ่งเฝ้าระวังการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ ซึ่งต้องการต้านอำนาจด้านการทหารของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออินเดีย ซึ่งมีข้อพิพาทพรมแดนกับจีน ขยับใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากขึ้น ดังนั้น ฝ่ายคัดค้านในเนปาลจึงเกรงว่าการเข้าร่วม SPP อาจทำให้ความสัมพันธ์กับจีนเสียหาย โดยเนปาลไม่มีทางออกสู่ทะเล และถูกขนาบด้วยจีนกับอินเดีย จึงต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่สมดุลกับชาติมหาอำนาจทั้งสอง รวมทั้งสหรัฐฯ เองด้วย
 
เมื่อเดือน ก.พ. รัฐสภาเนปาลได้อนุมัติการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือ จำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากองค์กรมิลเลนเนียมแชลเลนจ์ (Millennium Challenge Corporation) ซึ่งเป็นหน่วยงานความช่วยเหลือของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สำหรับโครงการสร้างสายส่งไฟฟ้าและปรับปรุงถนนหนทาง ความเคลื่อนไหวนี้ถูกฝ่ายคัดค้านในเนปาลมองว่า อยู่ในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ นั่นเอง จึงเกิดการชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวาง ด้วยความวิตกว่า เงินก้อนนี้ที่เมกามอบให้อาจมีจุดมุ่งหมายทางทหารแฝงอยู่ก็เป็นได้

 
ข้อมูลจาก “China 'commends' Nepal's decision to reject US partnership programme” ในเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น