เมืองฉวี่จิ้ง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ตั้งอยู่บนที่ราบสูงยูนนาน-กุ้ยโจว เดิมทีที่แห่งนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน บริเวณนี้จึงมีการค้นพบซากของปลายุคดึกดำบรรพ์จำนวนมาก จนได้ฉายาว่าเป็น “อาณาจักรแห่งปลา” ด้วยการขุดค้นมานานหลายปี ทีมวิจัยปลาดึกดำบรรพ์ของสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้ค้นพบหลักฐานที่พิสูจน์ว่า หูชั้นกลางของมนุษย์มีวิวัฒนาการมาจากเหงือกปลาเป็นครั้งแรก จากหลักฐานที่พบในหินฟอสซิลปลาอายุกว่า 400 ล้านปี
นักวิจัยมองว่า หลังจากที่ปลาซึ่งเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มแรกที่มีวิวัฒนาการขึ้นมาอยู่บนบกแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องพัฒนาอวัยวะประสาทสัมผัสขึ้นมาใหม่เพื่อให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตบนบก ดังนั้นรูหายใจของปลาจึงค่อยๆพัฒนามาเป็นหูชั้นกลาง ส่วนกระดูกที่เชื่อมต่อกันทั้งสามก็ค่อยๆพัฒนาเป็นกระดูกทั้งสามของหูชั้นกลางซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสียงไปยังสมอง นี่จึงเป็นคำอธิบายที่ชัดเจนสำหรับข้อเท็จจริงที่ว่า ถึงแม้หูของมนุษย์จะไม่สามารถใช้หายใจได้ในปัจจุบัน แต่หูของมนุษย์ก็ยังคงเชื่อมต่อกับปาก เนื่องจากเคยเป็นอวัยวะระบบทางเดินหายใจของปลามาก่อนนั่นเอง
จู หมิ่น นักวิจัยของสถาบันวิจัยสัตว์มีกระดูกสันหลังและมนุษย์ดึกดำบรรพ์ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนเผยว่า โครงสร้างทุกส่วนของมนุษย์ล้วนแต่สามารถสืบย้อนไปถึงบรรพบุรุษที่เป็นปลาได้ ไม่ว่าจะเป็นฟัน กราม สมองส่วนกลางและอื่นๆ โดยนักบรรพชีววิทยาต่างกำลังพยายามหาคำตอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่วงที่ปลาวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์อย่างแข็งขัน ซึ่งฟอสซิลที่พบในอาณาจักรปลาในเมืองฉวี่จิ้งนั้น กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่พิสูจน์ถึงความเชื่อมโยงของหูชั้นกลางของมนุษย์กับเหงือกปลา
ที่มา: China Media Group