“เต้าหู้หมดอายุใน 5 วัน ส่วนคุณหมดอายุใน 3 วัน” กลายเป็นมุกตลกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั่วประเทศจีนเวลานี้ แม้จีนเลิกมาตรการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ยังมีการแพร่ระบาดโควิดในพื้นที่ต่างๆ และรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ ยังต้องปฏิบัติตามนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีการระบาดไปตรวจโควิดแบบพีซีอาร์ (PCR) อย่างเคร่งครัด ทำเอาประชาชนโอดครวญ ทั้งยังกังวลว่ารัฐบาลจะดำเนินมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง
ขณะนี้ผู้อาศัยในเมืองต่างๆ ของจีนอย่างน้อย 50 เมือง จำเป็นที่จะต้องตรวจพีซีอาร์ทุกๆ 2-3 วัน เนื่องจากผลตรวจพีซีอาร์จะมีอายุแค่ 72 ชั่วโมง หรือ 3 วันเท่านั้น การก้าวออกจากบ้านโดยที่ไม่มีผลตรวจโควิดเป็นลบเปรียบเสมือน “คนตายที่ชีพจรหยุดนิ่ง” เพราะคุณไม่สามารถใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟใต้ดิน รถประจำทาง รวมทั้งพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เกต ดังนั้นการตรวจพีซีอาร์เป็นประจำจึงเป็นการต่อการเดินชีวิตปกติและช่วยระบุจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์ ในขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวนำความยุ่งยากมาสู่ชีวิตประชาชน
ยกตัวอย่างเช่น หลิน เสี่ยวผิง นักบัญชีสาวจากเซี่ยงไฮ้เผยว่า สัปดาห์ที่แล้วเธอถูกบังคับให้ลางานเป็นเวลา 1 วัน เนื่องจากเธอพลาดการตรวจพีซีอาร์ “ฉันไปที่บูทตรวจพีซีอาร์แถวบ้าน ซึ่งมีคนยืนต่อแถวเป็นจำนวนมากและพอถึงคิวของฉันบูทก็ปิดแล้ว” เธอยังบ่นอีกว่า “อากาศเริ่มร้อนขึ้นและมันน่ารำคาญมากๆ ที่จะต้องมายืนต่อแถวตรวจพีซีอาร์ทุกๆ 2-3 วัน”
แม้รัฐบาลจะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยการจัดบูทตรวจพีซีอาร์หลายหมื่นบูทบริเวณริมถนนตามเมืองต่างๆ แต่สำหรับเมืองที่มีประชากรหนาแน่นอย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้จำนวนบูทดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลใช้เทคโนโลยี เช่น ระบบคิวอาร์โค้ดในการแสดง ‘รหัสสุขภาพ’ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากที่ไม่คุ้นชินกับการใช้สมาร์ทโฟนเกิดความอึดอัดใจและตัดสินใจออกจากบ้านน้อยลง “เมื่อก่อนฉันมักจะไปสวนสาธารณะ แวะไปตลาดและขึ้นรถเมล์ไปโรงพยาบาลเป็นกิจวัตร แต่ตอนนี้ฉันอยากอยู่บ้านให้ได้มากที่สุด เพราะมันยุ่งยากเกินไป” ซู หลี่หมิน หญิงยุค 70 จากกรุงปักกิ่งกล่าว
รวมทั้งยังมีคนหัวหมอผุดธุรกิจรับจ้างตรวจพีซีอาร์แทนคนอื่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและนำไปสู่การจับกุมในเวลาต่อมา ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลเมืองซื่อผิง ในมณฑลจี๋หลิน มีคำสั่งให้ผู้ที่พลาดการทดสอบกรดนิวคลิอิกครั้งใหญ่ทั้ง 2 ครั้ง ต้องถูกจำคุกเป็นเวลา 10 วัน ถูกปรับอีก 500 หยวน (ประมาณ 2,500 บาท) และชื่อของพวกเขาจะถูกประณามผ่านสื่อ ทั้งยังไม่สามารถขึ้นรถไฟ หรือเช็กอินตามโรงแรมต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากสาธารณชนและถูกยกเลิกไปในที่สุด
ด้านจ้าว หง ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายของจีน (CUPL) แสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว ผ่านบทความที่เผยแพร่ทางบัญชีวีแชท (WeChat) ของมหาวิทยาลัยว่า ภายใต้บทบัญญัติทางกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีน คำสั่งดังกล่าวของพวกเขาถือว่า “ไม่มีมูลและเป็นการทำลายศักดิ์ศรีส่วนบุคคล” นอกจากนี้ เธอยังแสดงความกังวลต่อต้นทุนทางการเงินและแรงงานจำนวนมหาศาลที่ใช้ไปกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งล้วนเป็นเงินจากกองทุนสาธารณะ ที่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการชี้แจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องจากรัฐบาลท้องถิ่น รวมทั้งยังเป็นการยากสำหรับประชาชนที่จะตรวจสอบอีกด้วย
ที่มา : China coronavirus: ‘you expire in 3 days’ restrictions and negative test proof requirements hit daily life hard (SCMP)