เมื่อพูดถึงมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว การขุดพบที่ แหล่งโบราณคดีซานซิงตุย ถือว่าเป็นเรื่องที่ชาวจีนต่างจับตามองกันมากที่สุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ แม้ว่าจะยังไม่ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่บรรดาโบราณวัตถุที่มีจำนวนมาก ทั้งมีรูปลักษณ์แปลกตา และดูลึกลับนั้นล้วนดึงดูดสายตาของผู้คน
แหล่งโบราณคดีซานซิงตุย ตั้งอยู่ในเมืองกว่างฮั่น มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ซึ่งในสมัยโบราณเรียกว่า อาณาจักรสู่ (Shu Kingdom) ที่มีความเก่าแก่ราว 3,000-4,500 ปี โดยแหล่งโบราณคดีซานซิงตุย ถูกยกให้เป็นหนึ่งในสุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกแห่งศตวรรษที่ 20
แหล่งโบราณคดีซานซิงตุยได้ค้นพบ “หลุมบูชายัญ” รวม 8 แห่งด้วยกัน ซึ่งการขุดค้นในแต่ละครั้งจะพบโบราณวัตถุชิ้นแปลกตาอยู่เสมอ อย่างเช่น หลุมหมายเลข 7 ที่ค้นพบกล่องสัมฤทธิ์บรรจุเครื่องหยกสีเขียว ซึ่งถูกหุ้มด้วยฝาปิดลายตาข่ายรูปทรงกระดองเต่าเมื่อเร็วๆ นี้ โดยด้านนอกมีลักษณะเป็นทรงรี ด้านในมีภาชนะหยกทรงรีชิ้นสมบูรณ์ที่นูนขึ้นมา ด้านบนมีร่องรอยการบุด้วยผ้าไหม ซึ่งบ่งชี้ว่าภาชนะชิ้นนี้อาจถูกห่อไว้อย่างประณีตในสมัยนั้น ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความสำคัญของวัตถุชิ้นนี้
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องสัมฤทธิ์ขนาดเท่าฝ่ามืออีกชิ้นหนึ่ง ที่หนาเท่ากับกระดาษเอกสารทั่วไป ซึ่งในตอนนี้มันยังคงม้วนเข้าหากันอยู่ คาดว่าเมื่อมันถูกกางออกแล้ว อาจจะมีจารึก หรือสัญลักษณ์อื่นๆ อยู่ภายใน ซึ่งเป็นที่จับตามองเป็นอย่างยิ่ง
ส่วน หลุมหมายเลข 8 ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดนั้น มีโบราณวัตถุฝังอยู่มากที่สุดเช่นกัน หนึ่งในนั้นมีแท่นบูชาสัมฤทธิ์สูงประมาณ 1 เมตร ด้านล่างสุดเป็นฐานกลวง บนฐานมีคนตัวเล็กๆ ที่ชูสัตว์วิเศษตัวเล็กๆ เอาไว้ นอกจากนี้ยังมีสัตว์วิเศษที่ทำจากสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ ประติมากรรมสัมฤทธิ์คนร่างงู ภาชนะสัมฤทธิ์รูปมังกรที่มีจมูกเป็นหมูและอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นลักษณะของเครื่องใช้ในยุคสัมฤทธิ์ของจีนที่ไม่เคยพบมาก่อนทั้งสิ้น
ที่มา : China Media Group