xs
xsm
sm
md
lg

จีนเผยการค้นพบชวนตะลึง ณ ‘กรุสมบัติซานซิงตุย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2022 แสดงโบราณวัตถุที่ขุดพบจากหลุมบูชายัญ หมายเลข 8 ของซากโบราณซานซิงตุย มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน )
เมื่อไม่นานนี้ คณะนักโบราณคดีจีนค้นพบกรุเครื่องสัมฤทธิ์ เครื่องทอง และเครื่องหยกสุดวิจิตรงดงาม ซึ่งรวมถึงเครื่องสัมฤทธิ์อย่างน้อย 10 รายการ ที่ขุดพบครั้งแรกในประวัติศาสตร์อารยธรรมมนุษย์ ณ ซากโบราณซานซิงตุย (Sanxingdui Ruins) อันโด่งดัง ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ทีมนักโบราณคดีจากสถาบันวิจัยโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีซื่อชวน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยซื่อชวน รวมถึงสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ดำเนินการขุดค้นหลุมบูชายัญ 6 หลุม บริเวณโบราณสถานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2020

โดยโบราณวัตถุที่พบใหม่ส่วนใหญ่ล้วนถูกขุดขึ้นมาจากหลุมบูชายัญ หมายเลข 7 และหมายเลข 8 ทำให้จำนวนวัตถุที่ค้นพบในหลุมบูชายัญทั้ง 6 หลุมของซากโบราณซานซิงตุย มีจำนวนรวมกันเกือบ 13,000 รายการแล้ว






จุดเด่นของการค้นพบในครั้งนี้อยู่ที่กล่องสัมฤทธิ์บรรจุเครื่องหยกสีเขียวจากหลุมหมายเลข 7 โดยด้านบนและด้านล่างกล่องหุ้มด้วยฝาปิดลายตาข่ายรูปทรงเต่า ด้านข้างประดับด้วยที่พับสัมฤทธิ์ ส่วนหูจับมีรูปร่างคล้ายหัวมังกร ที่มาพร้อมแถบริ้วสัมฤทธิ์ 2-3 เส้น ซึ่งผลวิเคราะห์วัสดุและอนุภาคขนาดเล็กบ่งชี้ว่าตัวกล่องดังกล่าวเคยถูกห่อด้วยผ้าไหม

“หากบอกว่าภาชนะชิ้นนี้ล้ำค่ามากคงไม่เกินจริงนัก เนื่องจากมีรูปร่างโดดเด่น ถูกสร้างสรรค์อย่างประณีต และออกแบบขึ้นอย่างแยบยล แม้เราจะไม่รู้ว่าตัวกล่องใช้ทำอะไร แต่ก็สรุปได้ว่าคนโบราณให้คุณค่ามันมาก” หลีไห่เชา ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยซื่อชวน หัวหน้าการขุดค้นหลุมหมายเลข 7 กล่าว

นอกจากนั้น ยังมีการค้นพบเครื่องหยกและเครื่องประดับสัมฤทธิ์ รูปแกะสลัก และระฆังในหลุมหมายเลข 7 ด้วย

สำหรับหลุมหมายเลข 8 ที่อยู่ติดกัน เหล่านักโบราณคดีค้นพบสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เช่น หัวสัมฤทธิ์กับหน้ากากทองคำ รูปปั้นสัมฤทธิ์ที่มีหัวมนุษย์และลำตัวเป็นงู ที่บูชาสัมฤทธิ์ สัตว์ในตำนานขนาดใหญ่ที่ทำจากสัมฤทธิ์ และวัตถุสัมฤทธิ์รูปทรงมังกรที่มีจมูกเป็นหมู








จ้าวฮ่าว รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง หัวหน้าการขุดค้นหลุมหมายเลข 8 กล่าวว่า ประติมากรรมเหล่านี้สลับซับซ้อนและสร้างสรรค์มาก มันร้อยเรียงเรื่องราวโลกแห่งเทพนิยายที่จินตนาการโดยคนโบราณ และสะท้อนความหลากหลายและความสมบูรณ์ของอารยธรรมจีน

คณะนักโบราณคดียังพบเศษเถ้า ฐานสถาปัตยกรรม หลุมบูชายัญขนาดเล็ก และสารพัดโบราณวัตถุทางวัฒนธรรม รวมถึงไผ่ พืชจำพวกกก ถั่วเหลือง ซากวัวควายและหมูป่าที่อาจนำมาบูชายัญรอบๆ หลุมบูชาอีกด้วย

ทั้งนี้ ซากโบราณซานซิงตุย ถูกเรียกขานว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีอันยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกแห่งศตวรรษที่ 20
ซึ่งถูกค้นพบช่วงปลายทศวรรษ 1920 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 12 ตารางกิโลเมตร ในเมืองกว่างฮั่น ห่างจากนครเฉิงตูราว 60 กิโลเมตร โดยมีคาดการณ์ว่าซากโบราณนี้ตกทอดมาจากอาณาจักรสู่ (Shu Kingdom) ที่มีความเก่าแก่ราว 3,000-4,500 ปี

ข่าว/ภาพ โดยสำนักข่าวซินหัว, 13 มิ.ย.2022


กำลังโหลดความคิดเห็น