xs
xsm
sm
md
lg

เบียร์จืดซะแล้ว ความสัมพันธ์เยอรมนี-จีนไม่เหมือนเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี กล่าวสุนทรพจน์ในเวทีการพูดคุยภาคธุรกิจเยอรมนี-ญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2565 - ภาพรอยเตอร์
เมื่อครั้งที่นายโอลาฟ ชอลซ์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีในปีที่แล้ว เขาเคยกล่าวกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิงว่า เยอรมนีจะกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยความเคารพและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทว่าคล้อยหลังไม่กี่เดือน ลมก็เปลี่ยนทิศ

ขณะนี้รัฐบาลเยอรมนีได้วางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับจีนกันใหม่ โดยประเมินจากหลายเรื่องเข้าด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียในยูเครน ข้อกล่าวหาปักกิ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ในซินเจียง และนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจและห่วงโซ่อุปทานของเยอรมนี

เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนีปฏิเสธให้การค้ำประกันบริษัทผู้ผลิตรถโฟล์คสวาเกนสำหรับโครงการลงทุนใหม่ในจีน ด้วยเหตุผลว่า ปักกิ่งละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังจากเกิดการรั่วไหลของข้อมูลจากแฟ้มเอกสารของตำรวจในมณฑลซินเจียง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการกดขี่ข่มเหงชาวอุยกูร์ โดยนายโรเบิร์ต ฮาเบ็ค รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจระบุว่า เยอรมนีจะคำนึงถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น และสร้างความหลากหลายด้านการลงทุน เพื่อลดการพึ่งพาจีน

แม้ปักกิ่งปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่นางอันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีก็ไม่วายนำเรื่องข้อมูลรั่วไหลมาพูดกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนจนได้

ทั้งนี้ เยอรมนีกับจีนเป็นหุ้นส่วนทางการค้า ซึ่งพึ่งพาอาศัยกันมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่จีนเริ่มเปิดเศรษฐกิจช่วงปลายทศวรรษ 1970 (พ.ศ.2513-2522) และตั้งแต่นั้นมาเยอรมนีก็ยึดหลักว่า ใช้การค้าเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในชาติเผด็จการ ซึ่งเยอรมนีใช้หลักการนี้กับรัสเซียด้วย

แม้การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-เยอรมนีผ่านมาครบ 50 ปีในปี 2565 และข้อมูลจากสำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางเยอรมนี ระบุว่า ปักกิ่งยังคงเป็นชาติคู่ค้าสำคัญที่สุดของเบอร์ลิน โดยการค้าระหว่างชาติทั้งสองมีมูลค่าสูงถึง 262,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564

อย่างไรก็ตาม นายโนอาห์ บาร์คิน นักวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับจีน ประจำกองทุนมาร์แชลเยอรมันแห่งสหรัฐฯ (German Marshall Fund of the United States) มองว่า ขณะนี้เยอรมนีกำลังเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ ซึ่งจีนจะถูกมองในฐานะการเป็นหุ้นส่วนทางการค้าน้อยลง แต่กลายเป็นคู่แข่งขันของเยอรมนีมากขึ้น การลดความเสี่ยง อันเกิดจากการพึ่งพาจีนคือปัญหาท้าทายสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ของนายกรัฐมนตรีชอลซ์

นอกจากนั้น ในสายตาของเหล่านักวิเคราะห์ การเลือกเยือนญี่ปุ่นเป็นชาติแรกในเอเชียในฐานะนายกรัฐมนตรีของนายชอลซ์ เป็นสิ่งยืนยันชัดเจนว่าความสัมพันธ์ ที่แน่นแฟ้นในยุคของนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิลได้ผ่านพ้นไปแล้ว

ข้อมูลจาก "China-Germany economic ties shift with Xinjiang allegations, zero Covid and supply chain issues" ในเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์


กำลังโหลดความคิดเห็น