โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล นักวิชาการอิสระด้านจีนยุคใหม่
การเติบโตอย่างรวดเร็วของเวียดนามคือ “ภัยคุกคาม” สำหรับจีนจริงหรือไม่? หากท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจอยู่สม่ำเสมอจะทราบว่า ใน 5 ปีที่ผ่านมานี้ดัชนีชี้วัดการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) แต่ละปีเติบโตอย่างรวดเร็วสวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่กำลังซบเซา และในหลายประเทศการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เป็นลบติดๆ กันตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19
ผู้เขียนอยากเขียนประเด็นนี้เพราะมองว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจและจับตา เพราะช่วงหลังๆ มาสื่อจีน.และนักวิชาการจีนมีการนำเสนอและโฟกัสการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามมากยิ่งขึ้น อาจเพราะมีหลายโรงงานสายการผลิตต่างชาติในจีนทยอยปิดตัวจากจีนและย้ายไปตั้งฐานการผลิตใหม่ที่เวียดนาม หรือไม่ก็มีการลดกำลังการผลิตในจีน และไปสร้างโรงงานใหม่เพื่อที่จะย้ายไลน์การผลิตสินค้าบางประเภทไปที่เวียดนาม ขณะนี้มีข่าวว่า บริษัทรับจ้างผลิตภาคอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ คือ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) จะย้ายฐานการผลิต Ipad และ Macbook ไปเวียดนาม โดยได้ทุ่มทุนมหาศาลผุดโรงงานใหม่ในเวียดนามแล้ว
ผู้เขียนมองว่าสำหรับจีนการย้ายออกของโรงงานต่างชาติทุกโรงงานมีความสำคัญ เพราะหากไม่มีฐานการผลิตในจีนแล้ว จะส่งผลกระทบโดยตรงเลยคืออัตราการจ้างงาน ตำแหน่งงานที่ลดลงส่งผลโดยตรงต่อปากท้องประชาชน ไปจนถึงส่งต่อผลกระทบต่อผลประกอบการภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ การส่งออก เป็นต้น
อีกเหตุผลที่จีนเริ่มจับตาการเติบโตของเวียดนามมากขึ้นเป็นเพราะนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกงชื่อดัง นาย ลีกาชิง เริ่มมีการเข้าไปลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามจำนวนมาก อีกทั้งในปี 2022 นี้ตัวเลขการส่งออกของเวียดนามสูงถึง 1.77 แสนล้านหยวน ซึ่งตัวเลขนี้ได้นำหน้าตัวเลขส่งออกของเซินเจิ้นเมืองเศรษฐกิจหลักทางตอนใต้ของจีนไปแล้ว 2 เท่า ถึงแม้ว่าไม่อาจเปรียบเทียบกันได้เพราะขนาดของเศรษฐกิจโดยรวม ศักยภาพโดยรวมของทั้งประเทศและจำนวนประชากรโดยจีนประชากรถึง 1,400 ล้านคน ในขณะที่เวียดนามมีประชากรทั้งประเทศเพียง 98 ล้านคน แต่กระนั้นคนจีนหลายคนยังคงเกรงกลัวการผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจของเวียดนาม บางคนถึงขนาดบอกว่า “เวียดนามกำลังจะขึ้นมาเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ของโลก”
ผู้เชี่ยวชาญจีนหลายคนมองว่า เวียดนามขณะนี้เหมือนเป็น “ตัวกลางที่ได้รับประโยชน์” จากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา เวียดนามในฐานะประเทศที่อยู่ตรงกลางได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ
ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลจากบทวิเคราะห์ต่างๆ ที่ชี้ประเด็นที่น่าจับตามองเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม ดังต่อไปนี้
- สหรัฐฯ เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงขึ้น ในขณะที่แทบไม่เรียกเก็บภาษีสินค้าจากเวียดนาม โรงงานต่างชาติในจีน รวมทั้งโรงงานจีนเองที่ใช้แรงงานเข้มข้นเริ่มทยอยย้ายฐานผลิตไปเวียดนาม บริษัทระดับโลกรายแรกๆ ที่บอกลาจีน ย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในเวียดนามมากที่สุดอย่าง ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ลงทุนมหาศาลทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดย ณ ปัจจุบันเวียดนามคือฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกของซัมซุง ในปีที่แล้ว (2021) ‘ซัมซุง-เวียดนาม’ มีมูลค่าส่งออกรวมมากกว่า 65,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2020 หลังจากที่ซัมซุงเข้าไปลงทุน บริษัทข้ามชาติของเกาหลีใต้อีกจำนวนมากทยอยเข้าไปลงทุนในเวียดนาม อีกทั้งโรงงานของจีนเองไม่น้อยก็ตัดสินใจไปลงทุนที่เวียดนามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลที่ว่า “เพราะตั้งแต่ที่รัฐบาลสหรัฐฯ นำโดยนายโดนัล ทรัมป์ เพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีนป็นอัตราที่สูงมาก อย่างเช่น ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์หากส่งออกจากจีนจะเก็บภาษี 25% ในขณะที่หากส่งออกจากเวียดนามภาษีจะเป็น 0% ดังนั้นในด้านของต้นทุนการส่งออกและต้นทุนของแรงงานในจีนที่พุ่งสูงไม่หยุด จึงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ต้องออกไปลงทุนในเวียดนามซึ่งมีความพร้อมในหลายด้านและลงตัว”
อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามอีกยังตื่นตัวในเรื่องการดึงดูดการลงทุน โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับบริษัททุนต่างชาติลดลงเหลือ 20% และสำหรับทุนบางประเภทยังมีสิทธิพิเศษ “2 ไม่ต้องจ่าย, 4 จ่ายครึ่งนึง” หมายถึง 2 ปีแรกที่เข้ามาลงทุนไม่ต้องจ่ายภาษีเลย ที่เหลืออีก 4 ปีจ่ายครึ่งเดียว นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดึงดูดการลงทุนอีกมากมาย
- รัฐบาลเวียดนามกับความพยายามเป็นโรงงานของโลก เวียดนามตั้งเป้าหมายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2035 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปี 2022 ที่ 6% และจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยปัจจุบันกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนาม ที่ช่วยผลักดันให้ GDP เติบโตนั้น 38% มาจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต และ 41% มาจากภาคบริการ การเงิน การธนาคารและประกันภัย เวียดนามได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แต่เมื่อปลายปี 2021 รัฐบาลเวียดนามเลือกที่จะปลดล็อกและรีบฟื้นฟูกำลังการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ให้กลับมาโดยไว ทำให้เมื่อไตรมาสแรกของปีนี้ GDP ของเวียดนามเติบโต 5.03% ขณะที่การนำเข้าและส่งออกเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในปี 2021 ที่ผ่านมาภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 เวียดนามยังคงอัตราการเติบโตของการส่งออกที่ 5% โดยมีมูลค่าส่งออกรวม 3.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทุบสถิติไปอีก ในด้านของการนำเข้าเติบโตถึง 26.5% โดยมีมูลค่านำเข้ารวม 3.3 แสนล้านดอลลาร์ เกินดุลการค้าอยู่นิดหน่อยเท่านั้น โดยสหรัฐฯ คือตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของเวียดนาม ในขณะที่จีนคือตลาดการนำเข้าสินค้าอันดับหนึ่งของเวียดนาม
- เวียดนามกับการเข้าร่วมเขตความร่วมมือเศรษฐกิจในระดับต่างๆ อย่างกระตือรือร้น ในช่วงเกือบๆ 10 ปีที่ผ่านมา ในวงสมาชิกประเทศอาเซียนด้วยกัน เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุด ทั้งข้อได้เปรียบในด้านที่ตั้งของประเทศ และประชากรอายุน้อย ประชากรได้รับการศึกษามากทำให้มีเปอร์เซ็นต์แรงงานทักษะที่มาก อีกปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ภาคเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้เร็วหนีไม่พ้นการเข้าเป็นสมาชิกเขตเศรษฐกิจในระดับต่างๆ
เวียดนามเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียนคงไม่ต้องกล่าวถึงแล้ว รวมถึงการร่วมเข้ากลุ่มความร่วมมือสำคัญๆ ระดับโลกพื้นฐานอย่างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และไม่นานมานี้เวียดนามได้เข้าร่วมเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 เขตที่สำคัญๆ อย่างความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เวียดนามกับความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU-Vietnam Free Trade Agreement : EVFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยทุกการร่วมมือระดับภูมิภาคต่างมีความสำคัญต่อเวียดนามอย่างยิ่ง เช่น ในการเซ็นสัญญาร่วมมือเขตการค้าเสรี (FTA) กับกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) สำเร็จ ทำให้สินค้าส่งออกของเวียดนามสามารถเข้าไปตีตลาดในกลุ่มประเทศนี้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีกำลังการบริโภค อีกทั้งทางกลุ่มยุโรปยังส่งออกสินค้าประเภทเครื่องจักร ยา และรถยนต์เข้ามายังเวียดนามได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่วนการร่วมมือล่าสุดในกรอบของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ก็มีความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นการร่วมมือที่นำโดยอาเซียน และหลายประเทศพัฒนาแล้วได้เข้าร่วมกลุ่มด้วย
สำหรับประเด็นสุดท้ายซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ว่า เวียดนามคือภัยคุกคามของจีนหรือไม่? ในจีนเองมีความคิดเห็นแบบสองฝ่ายคือ ฝ่ายที่มองว่าคือภัยคุกคาม เหตุผลง่ายๆ เลยคือมาแย่งออเดอร์ต่างประเทศไปจากโรงงานจีน ทำให้กระทบการจ้างงานในประเทศ กระทบต่อการส่งออกของจีน ในอีกฝ่ายหนึ่งมองตามความเป็นจริงที่ว่า จีนเองต้องมีการปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่โฟกัสในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอีกต่อไป อีกทั้งต้นทุนค่าแรงของแรงงานทักษะที่สูงขึ้น จำเป็นต้องก้าวไปอีกขั้น และอุตสาหกรรมแบบเก่าต้องเปลี่ยนผ่านออกไปได้แล้ว
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘นโยบายโควิดเป็นศูนย์’ ที่รัฐบาลจีนกำลังยึดถือปฏิบัติอยู่ก็เสมือนเป็นดาบสองคม ด้านการธุรกิจนั้นสร้างปัจจัยด้านลบมาสู่ทุนต่างชาติที่ลงทุนอยู่และที่คิดจะเข้ามาลงทุนอยู่ไม่น้อย อย่างเช่นก่อนหน้านี้ สินค้าของบริษัทแอปเปิล 90% มีฐานการผลิตในประเทศจีน ไม่นานมานี้มีข่าวที่จะย้ายการผลิตสินค้าบางตัวไปที่เวียดนาม เป็นต้น และในกลุ่มสมาคมนักธุรกิจยุโรปส่วนใหญ่มีแผนที่จะกระจายการลงทุนฐานจากแต่ก่อนที่จีนเป็นฐานการผลิตหลัก ไปสู่ที่อื่นๆ
นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่า เวียดนามผงาดขึ้นมาเป็นลิ่วล้อที่สำคัญของห่วงโซ่อุตสาหกรรมของโลก สำหรับจีนแล้วจะกลายมาเป็นตัวช่วยมากกว่ามาเป็นคู่แข่งขัน จีนเองไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไปกับการเติบโตขึ้นมาของเวียดนาม เพราะเมื่อดูจากโครงการการผลิตของเวียดนามในขณะนี้ สินค้าต้นน้ำจำนวนมากต้องนำเข้าจากจีน จีนเองเป็นผู้ได้รับประโยชน์ กล่าวคือการค้าเวียดนามกับต่างประเทศโต การค้าระหว่างจีนและเวียดนามก็โตไปด้วย และถ้าเทียบกันกับขนาดแล้ว มณฑลกวางตุ้งของจีนมีขนาดเศรษฐกิจและขนาดประชากร แรงงานเยอะกว่าเวียดนามมาก ประเด็นสำคัญคือจีนมีห่วงโซ่อุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำที่ครบเครื่อง เวียดนามมาเทียบได้ยากมาก อีกทั้งจีนเองได้เข้าไปเป็นผู้นำห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานที่สำคัญของโลก ไม่มีทางเลยที่จะตัดจีนออกจากการเป็นห่วงโซ่สำคัญในเศรษฐกิจโลก
สุดท้ายคือในวงจรอุตสาหกรรมการผลิต การเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี การย้ายออกของโรงงานที่ใช้แรงงานเข้มข้นในจีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและต้องยอมรับ การเปลี่ยนถ่ายอาจจะนำมาซึ่งปัญหา แต่ต้องหาวิธีแก้ไข ที่สำคัญคือจีนต้องพยายามโฟกัสไปที่การอัปเกรดอุตสาหกรรมไปสู่ขั้นสูง ทักษะแรงงานต้องสูงขึ้น ประคองการเติบโตเพื่อการเติบโตในอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งกว่า ผู้เขียนมองว่า ณ ปัจจุบันจากการที่โรงงานน้อยใหญ่จากทั่วโลกเลือกที่จะไปปักหมุดลงทุนเวียดนาม ลึกๆ แล้วจีนอาจจะมีความหวาดกลัวอยู่ไม่มากก็น้อย