วันนี้ (7 มิ.ย.) เป็นวันแรกใน การสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยระดับชาติ หรือ เกาเข่า (Gaokao) ประจำปี 2022 และเพื่อให้ลูกๆ สามารถทำข้อสอบสุดหินได้คะแนนสูงๆ บรรดาผู้ปกครองหลายคนจึงงัดสารพัดวิธีตามความเชื่อในแบบของตน เพื่อเป็นกำลังใจและเอาฤกษ์เอาชัยให้เด็กๆ
ยกตัวอย่างเช่น ในการสอบวันแรกผู้ปกครองหลายคนมักสวมเสื้อสีแดง โดยเฉพาะชุดกี่เพ้าสีแดง ซึ่งเป็นสีมงคลของชาวจีน และอาจสวมสีอื่นๆ แตกต่างกันไปตามความเชื่อ โดยการสวมกี่เพ้านั้นมาจากสำนวน “旗开得胜” (ฉีไคเต๋อเซิ่ง แปลว่า ชักธงรบก็ชนะศึก) เพื่อเป็นกำลังใจให้เด็กๆ ฮึกเหิมในการทำข้อสอบ สามารถทำข้อสอบได้คะแนนดีๆ ตั้งแต่วันแรก
ผู้ปกครองบางรายยังนิยมถืออ้อยที่มีกล้วยแขวนอยู่ด้านบน ซึ่งมาจากประโยคพ้องเสียงในภาษาจีนสำเนียงกวางตุ้งว่า “今蕉(朝)掂过碌蔗” จินเจียว (เจา) เตียนกั้วลู่เจ้อ โดย “掂过碌蔗” (เตียนกั้วลู่เจ้อ แปลว่า ตรงกว่าอ้อย) หมายถึง ทุกอย่างจะราบรื่น ส่วน “金蕉” (จินเจียว แปลว่า กล้วยทอง) พ้องเสียงกับ “今朝” (จินเจา แปลว่า วันนี้) ในภาษากวางตุ้ง เมื่อนำมารวมกันจะหมายถึง วันนี้ทุกอย่างจะราบรื่นและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ภายหลังยังมีการเพิ่มบ๊ะจ่างที่ผูกด้วยเชือกสีแดงแขวนไว้บนอ้อยคู่กับกล้วย โดยตัว “粽” (จ้ง) จาก “粽子” จ้งจื่อ หรือบ๊ะจ่าง ออกเสียงคล้ายกับ “中” (จง) จาก “高中” เกาจง แปลว่า มัธยมปลาย จากประโยค “一蕉高中,掂过碌蔗” (อีเจียวเกาจง เตียนกั้วลู่เจ้อ) หมายถึง การสอบของเด็กๆ มัธยมปลายในวันนี้ทุกอย่างจะราบรื่นและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ บางคนยังนำบ๊ะจ่างและกล้วยมาแตะหน้าผาก เพื่อเป็นสิริมงคลอีกด้วย
ไม่เพียงแต่บรรดาผู้ปกครองที่ต้องการมอบกำลังใจและหวังว่าเด็กๆ จะสอบได้คะแนนสูงๆ แต่ครูก็หวังด้วยเช่นกัน โดยก่อนวันสอบเกาเข่า บรรดาครูผู้หญิงและครูผู้ชายจากโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ได้สวมชุดกี่เพ้า เพื่อให้กำลังใจนักเรียนที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากเด็กๆ
ทั้งนี้ การสอบเกาเข่าประจำปี 2022 จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน คือ วันที่ 7-8 มิ.ย.2022 นี้
ที่มา: 广州南武中学考场门口家长和老师为考生助威加油 (ycwb)
为什么广东家长穿绿衣、举香蕉、甘蔗?《高考谐音梗手册》(sohu)
男老师穿旗袍为高考学生打气:明天全国高考学子们旗开得胜-高考,老师,旗袍 (mydrivers)
超有爱!乌鲁木齐市交警举着葵花和粽子送高考生入场 (ts.cn)
จีนกำหนดวันสอบ "เกาเข่า" ประจำปี 2022 (xinhuathai)