เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ - การเยือนจีนและภูมิภาคซินเจียงของนางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ปิดฉากลงแล้ว ด้วยความพอใจของปักกิ่ง ซึ่งระบุว่า บรรลุผลในแง่บวกและมีประโยชน์ แต่ที่ยืนกรานว่า เป็นทริปจัดฉากก็คือสหรัฐฯ
นางบาเชเลต์ นับเป็นข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนคนแรก ที่มาเยือนจีนในรอบ 17 ปี ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนชาติตะวันตกรอคอยกันมานาน โดยระหว่างการเยือน 6 วัน นางบาเชเลต์ มีโอกาสหารือผ่านระบบการประชุมทางไกลกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ตลอดจนแวะเยือนเมืองคาชการ์ และเมืองอุรุมชี ในภูมิภาคซินเจียง ทางภาคตะวันตก
ในการแถลงที่กรุงปักกิ่งวันสุดท้ายของการเยือนเมื่อวันเสาร์ (28 พ.ค.) อดีตประธานาธิบดีหญิงของชิลี วัย 70 ปี ได้พูดถึงกรณีซินเจียงอย่างระมัดระวัง พร้อมกับย้ำว่า การมาเยือนครั้งนี้ไม่ใช่การมาสอบสวน และยังไม่สามารถชี้ชัดอะไรได้เรื่องการล้างสมอง หรือการกักกันผู้คน ด้วยว่าเป็นการมาเยือนอย่างเป็นทางการจึงไม่เอื้อให้ทำเช่นนั้นได้
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงความเห็นในวันถัดมาทันทีว่า สหรัฐฯ ยังคงวิตกกังวลอย่างยิ่งในเรื่องที่รัฐบาลจีนพยายามควบคุมและจำกัดการเดินทางเยือนของข้าหลวงใหญ่พร้อมคณะ ซึ่งทำให้ไม่สามารถประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจีนได้อย่างอิสระ รวมทั้งในภูมิภาคซินเจียง ซึ่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษชาติยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ที่ผ่านชาติตะวันตกกล่าวหารัฐบาลจีนว่า บีบบังคับให้มีการทำหมันและมีการกักกันคนจำนวนมาก ซึ่งเป็นชนเชื้อสายอุยกูร์ และชาวมุสลิมกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในซินเจียง แต่ปักกิ่งปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้มาตลอด โดยชี้แจงว่า ค่ายกักกันที่ว่านั้น มันคือศูนย์ฝึกอาชีพ ซึ่งเป็นโครงการเพื่อทำให้ผู้คนเลิกยุ่งเกี่ยวกับลัทธิก่อการร้ายและพวกหัวรุนแรงสุดโต่ง พร้อมกับปฏิเสธเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามที่วอชิงตันกล่าวหา
ด้านนายหม่า จ้าวซู่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีนกลับมองว่า ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนมาเยือนครั้งนี้ทำให้ได้มาเห็นซินเจียงของจริง และทั้งสองฝ่ายยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และอย่างเคารพซึ่งกัน
นายหม่า ยังบอกด้วยว่า ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับซินเจียงเป็น “การโกหกแห่งศตวรรษ” และเป็น “การวางแผนทางการเมือง” ซึ่งกำลังมีแนวโน้มทำให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เช่น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองไปในที่สุด