xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน-ไทย’ ขึ้นรถไฟด่วนสาย RCEP พาเศรษฐกิจ-การค้าสู่ระดับใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากศุลกากรหนานหนิง : เจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำท่าอากาศยานหนานหนิง อู๋เหวย ตรวจสอบทุเรียนนำเข้า)
หมอนยางพารา อาหารไทยสารพัดเมนู ทุเรียนหมอนทอง และผ้าไหมไทย ถือเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ไทยที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนตลอดหลายปีที่ผ่านมา และได้รับอานิสงส์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าอันใกล้ชิดระหว่างจีนและไทย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ไทยทยอย “ติดปีกโบยบิน” สู่ผู้คนทั่วไปในจีนอย่างต่อเนื่อง

(ภาพจากศุลกากรหนานหนิง : เจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำท่าอากาศยานหนานหนิง อู๋เหวย ตรวจสอบทุเรียนนำเข้า)
RCEP กับทุเรียนไทย
ปัจจุบัน “ทุเรียนไทย” ปรากฏให้เห็นตามซูเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่หลายแห่งในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน หลังทางการท้องถิ่นเปิดเส้นทางนำเข้าผลไม้ระดับชาติภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อย่างเป็นทางการ ทำให้ไทยมีเส้นทางขนส่งผลไม้ทางอากาศสู่จีน เช่น ทุเรียนที่สามารถเก็บเกี่ยวและส่งถึงจีนอย่างเร็วที่สุดในหนึ่งวัน

ถังฮุ่ย นักวิจัยผู้ช่วยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สังกัดสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์กว่างซี ระบุว่า การค้าผลไม้ระหว่างจีนและไทยได้รับโอกาสใหม่ๆ หลังมีการบังคับใช้ความตกลง ซึ่งเอื้ออำนวยประโยชน์ด้านภาษี พิธีการศุลกากรที่รวดเร็ว การนำเข้าและส่งออกที่ยืดหยุ่นและสะดวก ส่งผลให้การนำเข้าและส่งออกของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2022

กว่างซีกับความร่วมมือทางการค้า การลงทุนจีน-ไทย
สำหรับ “กว่างซี” ที่เป็นดั่งสะพานเชื่อมความร่วมมือระหว่างจีนและกลุ่มประเทศตามความตกลง ได้ประสานงานกับไทยอย่างแข็งขันในด้านการจัดสรรทรัพยากรและโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยกว่างซีและไทยได้เดินหน้าพัฒนาความร่วมมือทางการค้า การลงทุน โครงการรับเหมา การศึกษา วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวในช่วงไม่กี่ปีมานี้

(แฟ้มภาพซินหัว : ประชาชนเลือกดูทุเรียนหมอนทองที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตแห่งหนึ่งที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)
โครงการนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีวิศวกรรมเจิ้งต้า (CP)-กว่างซี
หยางฟาน ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ซีจี กรุ๊ป (CG Group) เผยว่า บริษัทวิศวกรรมก่อสร้างจากฝ่ายจีนริเริ่มธุรกิจในไทยเมื่อปี 2010 โดยแรกเริ่มได้มุ่งเป้าไปที่โครงสร้างพื้นฐานอย่างโรงงานน้ำตาล โรงแรม และอาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก จนกระทั่งปี 2018 จึงเริ่มลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ทางอุตสาหกรรม และร่วมกับหุ้นส่วนฝ่ายไทยก่อตั้งซีจี กรุ๊ป ในจังหวัดระยอง ก่อนลงทุนในโครงการนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีวิศวกรรมเจิ้งต้า (CP)-กว่างซี

โครงการนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีวิศวกรรมเจิ้งต้า (CP)-กว่างซี ครอบคลุมพื้นที่ราว 3,083 ไร่ ถือเป็นส่วนหนึ่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และได้รับอานิสงส์จากนโยบายเอื้อสิทธิประโยชน์มากมาย โดยโครงการนี้มุ่งริเริ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์การขนส่งทางราง เป็นต้น

“ขณะนี้เราดำเนินการปรึกษาหารือและปรับแก้รายละเอียดของโมเดลความร่วมมืออย่างรอบด้านภายใต้สถานการณ์ใหม่หลังประสบผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่ เพื่อเดินหน้าก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ด้วยคุณภาพสูง โดยปัจจุบันการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานได้เสร็จสิ้นในสองระยะแรก และเตรียมผลักดันการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ 5G” หยางกล่าว

การนำเข้าและส่งออกระหว่างกว่างซีและไทย
ทั้งนี้ ตามสถิติจากสำนักพาณิชย์กว่างซีระบุว่า ปริมาณการนำเข้าและส่งออกระหว่างกว่างซีและไทยในปี 2021 สูงเกิน 5 หมื่นล้านหยวน (ราว 2.54 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.5 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยไทยถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของกว่างซี เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน

ไทยเข้าลงทุนและจัดตั้งกิจการในกว่างซี
ขณะเดียวกัน ไทยได้เข้าลงทุนและจัดตั้งกิจการในกว่างซี จำนวน 156 แห่ง ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 2.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.64 หมื่นล้านบาท) เมื่อนับถึงสิ้นเดือนเมษายน 2022

กว่างซีเข้าลงทุนและจัดตั้งกิจการในไทย
ด้านกว่างซีจะเข้าลงทุนและจัดตั้งกิจการ หรือ องค์กรที่ไม่ใช่ภาคการเงินในไทย จำนวน 23 แห่ง ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.02 หมื่นล้านบาท) และผู้ประกอบการจากกว่างซีลงนามสัญญาวิศวกรรมกับไทย 63 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 1.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.65 หมื่นล้านบาท)

หวังซินหง ผู้อำนวยการฝ่ายกลุ่มประเทศอาเซียนและความร่วมมือระดับภูมิภาคของสำนักพาณิชย์กว่างซี กล่าวว่า กว่างซีและไทยมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้กัน ความเชื่อมโยงของผู้คนและวัฒนธรรม และรากฐานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่แข็งแกร่ง

กว่างซีจะเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงจากไทย ส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เฉพาะถิ่นกว่างซีในไทย กระตุ้นผู้ประกอบการดำเนินการลงทุนแบบสองทาง สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมข้ามพรมแดนจีน-ไทย โดยอาศัยนิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย (ฉงจั่ว) และนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีวิศวกรรมเจิ้งต้า (CP)-กว่างซี พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านต่างๆ สู่ระดับใหม่

(แฟ้มภาพซินหัว : ทุเรียนหมอนทองที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตแห่งหนึ่งที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)
ไทยคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของจีน
สำหรับปี 2022 ถือเป็นวาระครบรอบ 10 ปี การจัดตั้งความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านจีน-ไทย โดยทั้งสองฝ่ายต่างสานสัมพันธ์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ามาเนิ่นนาน จีนนั้นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยมานานหลายปี และเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ส่วนไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของจีน เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน

ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่าปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและไทยพุ่งสูงเกินหลัก 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในปี 2021 อยู่ที่ 1.31 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.47 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบปีต่อปี


“ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและอาเซียนมีความยืดหยุ่นสูง แม้สถานการณ์ระหว่างประเทศได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แต่ความร่วมมือจีน-อาเซียน ยังคงมีความแข็งแกร่ง ความเหนียวแน่น และศักยภาพมหาศาล” เหลยเสี่ยวหัว รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา กล่าวทิ้งท้าย

ข่าว/ภาพ โดยสำนักข่าวซินหัว, 27 พ.ค.2022


กำลังโหลดความคิดเห็น