xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าไอเดีย “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” เยือนเอเชีย เริ่มสงคราม “ไร้สมมาตร” กับพญามังกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ (ขวา)  - ภาพ AFP/AP
นักวิเคราะห์จีนมองการมาเยือนเอเชียของผู้นำสหรัฐฯ เพื่อเปิดตัว “กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิก” สร้างแรงสั่นสะเทือนแค่ระดับสงครามเย็นกับจีน เพียงแต่คู่ต่อสู้มีความได้เปรียบกว่าเท่านั้น

หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดร่วมกับผู้นำชาติอาเซียนที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อสัปดาห์ก่อน ประธานาธิบดีโจ ไบเดนก็เตรียมเยือนเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เป็นเวลา 4 วัน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันศุกร์ที่ 20 พ.ค. ตามการยืนยันของนางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ

กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิก (Indo-Pacific Economic Framework - IPEF) เป็นโครงการริเริ่มของประธานาธิบดีไบเดน หวังให้เป็นแกนเศรษฐกิจสำคัญเพื่อต้านอิทธิพลของจีน โดยมุ่งเน้นการสร้างความเป็นธรรมด้านการค้า ระบบห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น เศรษฐกิจดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนด้านเทคโนโลยี การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ พลังงานสะอาด ภาษี และการต่อต้านคอร์รัปชัน


กลุ่มชาติภาคี IPEF จะเติมเต็มบทบาทของมะกันที่โหว่ไปในภูมิภาคนี้ หลังจากที่ได้ถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรี ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) หรือ TPP ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2560
 
ในทรรศนะของนายสือ อิ้นหง อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเหรินเหมิน การเริ่มขับเคลื่อนบทบาทของกลุ่มชาติ IPEF จะก่อปัญหาท้าทายแหลมคมแก่จีนที่แตกต่างจากในอดีต โดยสหรัฐฯ จะเป็นฝ่ายได้เปรียบด้วยมีชาติพันธมิตรมากหน้าหลายตา ซึ่งนายสือ คาดว่า นอกจากสิงคโปร์และฟิลิปปินส์แล้ว ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดียก็น่าจะเข้าร่วม IPEF ส่วนไต้หวันคงไม่เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ


ในขณะที่จีนนั้น นายสือ ชี้ว่า กำลังเผชิญปัญหารุมเร้ารอบด้านในภูมิภาคนี้ ทั้งด้านการทูต เศรษฐกิจ และการเงิน ซึ่งมีต้นตอจากข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ปัญหาไต้หวัน โรคโควิด-19 แพร่ระบาด การสู้รบในยูเครน หรือแม้กระทั่งปัญหาเศรษฐกิจชะลอการเติบโตในจีนเอง

มันจึงเป็นการทำสงครามไร้สมมาตร (asymmetrical warfare) ที่คู่ต่อสู้มีกำลังไม่สมน้ำสมเนื้อกัน แต่จีนน่าจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบแค่ชั่วคราว ตามสายตาของนายสือ


ด้านนายเหอ เว่ยเหวิน แห่งศูนย์จีนและโลกาภิวัตน์ (Centre for China and Globalisation) สถาบันคลังสมองในกรุงปักกิ่ง และอดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการค้าประจำสถานกงสุลจีนในนครนิวยอร์กและซานฟรานซิสโก ระบุว่า IPEF หาได้สร้างภัยคุกคามที่ใหญ่โต หรือปัญหาท้าทายเร่งด่วนใดๆ เลย และมันเป็นเพียง “ยุทธศาสตร์สงครามเย็น” อย่างหนึ่ง 


นอกจากนั้น ข้อเสนอใน IPEF ยังซ้ำซ้อนกับข้อเสนอในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) องค์การการค้าโลก (WTO) และในกลุ่ม G20 เช่น ประเด็นมาตรฐานแรงงาน พลังงานสะอาด และห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น หาก IPEF ไม่สามารถทำให้สิ่งที่เสนอมาเป็นรูปธรรมได้ มันจะเป็นเพียงแค่ความว่างเปล่า เช่น การสร้างระบบห่วงโซ่ที่สมบูรณ์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งนายเหอ ตั้งข้อสังเกตว่า จะทำได้สำเร็จหรือไม่ เพราะประเด็นอยู่ตรงที่สหรัฐฯ มิได้อยู่ในระบบห่วงโซ่อุปทานนี้ แต่จีนต่างหากที่เป็นแกนหลักของระบบห่วงโซ่อุปทานในอินโด-แปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม นายเหอ ยอมรับว่า สินค้าภาคเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์เป็นภัยคุกคามด้านห่วงโซ่อุปทานสำหรับจีน เนื่องจากสหรัฐฯ และยุโรปเป็นผู้ผลิตรายสำคัญ


ขณะที่นักวิเคราะห์อีกหลายคนของจีนเห็นว่า IPEF ยังอยู่ในขั้นเพิ่งเริ่มต้น อีกทั้งจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่เกินกว่าที่ชาติคู่ค้าจะยอมตัดใจทิ้ง นอกจากนั้น ในปีหน้าทั่วโลกจะมุ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายจากโควิด-19 เป็นงานสำคัญอันดับหนึ่ง มากกว่าที่จะคิดถึงเรื่อง IPEF

สำหรับการสร้างกฎระเบียบต่างๆ ของสหรัฐฯ เพื่อพยายามควบคุมจีนนั้น การยกระดับไปสู่สากลของจีนในด้านเศรษฐกิจการค้า สิ่งแวดล้อม แรงงาน ความเท่าเทียมทางเพศ นักวิเคราะห์เชื่อว่า จะทำให้จีนรับมือกับสหรัฐฯ ได้


ข้อมูลจาก " ฝJoe Biden’s IPEF economic pivot seen as ‘cold war strategy’, bringing China ‘sharp challenges’" ในเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น