จีนได้เริ่มการสำรวจ ‘ภารกิจยอดเขาสูง’ ซึ่งเป็นการศึกษาทดลองทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมบริเวณยอดเขา ‘โชโมลังมา’ หรือยอดเขา ‘เอเวอเรสต์’ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา
นักวิทยาศาสตร์เริ่มภารกิจจากการใช้เรดาร์ตรวจสอบลม เครื่องวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ยานบิน และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลของโอโซนและไนโตรเจนไดออกไซด์ ถอดรหัสกลไกธรรมชาติในการปรับกระบวนการให้อากาศบริสุทธิ์ด้วยตัวเอง
จู ถง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่า กิจกรรมของมนุษย์รวมถึงกิจกรรมของธรรมชาติ ล้วนแต่ปล่อยสารเคมีออกเป็นปริมาณมาก หากไม่มีความสามารถในการทำความสะอาดอากาศ ก็จะเกิดการสะสมนับพันปี และทำให้อากาศเสื่อมลงจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถหายใจได้
ความสามารถในการทำให้อากาศบริสุทธิ์ด้วยตัวเองนี้ยังมีความสำคัญต่อโลกในหลายด้าน ทั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ มลภาวะในชั้นบรรยากาศ และการควบคุมทางธรรมชาติของก๊าซเรือนกระจก
นอกจากเรื่องอากาศแล้ว ทีมวิจัยยังได้ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งอีกด้วย ธารน้ำแข็งนั้นเปรียบเสมือน "วงปี" ของโลก ที่คอยบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศตามธรรมชาติ และยังบันทึกผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อสภาพอากาศอีกด้วย
คัง ซื่อชัง สมาชิกในทีมวิจัยเผยว่า พวกเขาใช้โดรนและอุปกรณ์ตรวจจับระยะไกลเพื่อวัดความสูง ใช้เรดาร์น้ำแข็งในการวัดความหนาของธารน้ำแข็ง เพื่อคำนวณว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ธารน้ำแข็งลดลงมากน้อยเพียงใด
ธารน้ำแข็งรองบุก (Rongbuk Glacier) เป็นธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ปัจจุบันมีจำนวนธารน้ำแข็งทั้งหมด 87 สาย แม้ว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 20 ปีก่อนที่มีเพียง 68 สาย แต่ในความเป็นจริงนั้นธารน้ำแข็งกลับลดขนาดลง เนื่องจากธารน้ำแข็งสายใหญ่ได้ละลายตัวและกลายเป็นธารน้ำแข็งเล็กๆ หลายสายนั่นเอง
เพื่อให้มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์จึงยังต้องไขความลับบนยอดเขาเอเวอเรสต์ต่อไปอีกหลายด้าน
*ยอดเขาเอเวอร์เรสต์แห่งที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตที่ทรงความสำคัญต่อมนุษยชาติ
ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ และเชิงเขาด้านทิศเหนือตั้งอยู่ในเขตที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตของจีน แม้ว่าภูมิภาคนี้จะฟังดูห่างไกลมาก แต่ก็เป็นจุดกำเนิดของสายน้ำสำคัญๆ ที่ไหลผ่านหล่อเลี้ยงดินแดนทั่วเอเชีย ทั้งแม่น้ำเหลือง แม่น้ำแยงซี แม่น้ำคงคา แม่น้ำน้ำโขง แม่น้ำสินธุ แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำอิระวดี จนถูกขนานนามว่า “เจดีย์น้ำแห่งเอเชีย”
ที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตนี้มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศสูงมาก กล่าวคือ แม้ว่าพื้นที่อื่นจะยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ที่นี่ก็จะเกิดปฏิกิริยาต่อความเปลี่ยนแปลงก่อนแล้ว ดังนั้น การสำรวจสภาพธารน้ำแข็ง กิจกรรมทางธรณีวิทยา ระบบนิเวศ และกิจกรรมมนุษย์ของยอดเขาเอเวอร์เรสต์จึงมีความสำคัญยิ่งต่อความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ คุณภาพน้ำ ความปลอดภัยและสุขภาวะของมนุษยชาติในเอเชียหรือแม้แต่ทั่วโลก
สำหรับการสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์ครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังจากการสำรวจที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตเมื่อปี 2017 โดยครอบคลุมการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่กว้างที่สุด มีสมาชิกทีมสำรวจมากที่สุด และใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด
เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ทีมสำรวจได้ไต่ถึงสู่ยอดเขา และใช้เรดาร์ความละเอียดสูงเพื่อวัดความหนาของหิมะบนจุดสูงสุดของโลกเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังได้เก็บตัวอย่างหิมะและน้ำแข็ง รวมถึงทดสอบกลไกการปรับตัวของมนุษย์เมื่ออยู่ในที่สูงแบบสุดขั้วเป็นครั้งแรกด้วย นอกจากนี้ ทีมสำรวจยังได้ติดตั้งสถานีอุตุนิยมวิทยาแบบอัตโนมัติที่มีน้ำหนักถึง 50 กิโลกรัม บนจุดที่สูงจากระดับน้ำทะเล 8,830 เมตร ซึ่งส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์กลับมาเป็นที่เรียบร้อย
ข่าว/คลิปโดย CMG