xs
xsm
sm
md
lg

จีนพบกลุ่มฟอสซิล ‘สัตว์ขาปล้อง’ เก่าแก่กว่า 500 ล้านปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน : ฟอสซิลเธลซิโอเป สไปโนซา ในกลุ่มฟอสซิลหลินอี๋ ลาเกอร์สแตท)
คณะนักบรรพชีวินวิทยาของจีนและสหรัฐฯ เปิดเผยในวารสารเนชันแนล ไซเอนซ์ รีวิว (National Science Review) ถึงการขุดพบกลุ่มฟอสซิลสัตว์ทะเลโบราณที่มีความเก่าแก่ราว 504 ล้านปี ในเมืองหลินอี๋ มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน

จ้าวฟางเฉิน นักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่า กลุ่มฟอสซิลข้างต้น ซึ่งคณะนักวิจัยเรียกว่า “หลินอี๋ ลาเกอร์สแตท” (Linyi Lagerstatte) ประกอบไปด้วยสัตว์สูญพันธุ์มากกว่า 35 ชนิด ที่อาศัยอยู่บนพื้นมหาสมุทร โดยส่วนใหญ่เป็นสัตว์ขาปล้อง

จ้าว ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยยังระบุอีกว่า พบสิ่งมีชีวิตคล้ายฟองน้ำและที่มีรูปร่างคล้ายหนอนอีกหลายชนิดในกลุ่มฟอสซิลดังกล่าว โดยหลินอี๋ ลาเกอร์สแตท มีความโดดเด่นจากสภาพสมบูรณ์ของแขนขา ดวงตา และอวัยวะภายในของสัตว์ขาปล้อง ซึ่งช่วยให้ข้อมูลทางกายวิภาคใหม่ๆ เกี่ยวกับวิวัฒนาการช่วงต้น

ฟอสซิลสัตว์ทะเลโบราณ ในกลุ่มฟอสซิลหลินอี๋ ลาเกอร์สแตท (ภาพจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน)
กลุ่มสัตว์ที่พบในฟอสซิลนี้ เชื่อว่าถือกำเนิดขึ้นบนโลกทันทีหลังเกิดปรากฏการณ์แคมเบรียน เอ็กซ์โพลชัน (Cambrian explosion) ซึ่งเป็นยุควิวัฒนาการสำคัญที่นำไปสู่การกำเนิดของบรรพบุรุษสิ่งมีชีวิตสมัยใหม่มากมาย

จ้าว กล่าวว่า สายพันธุ์สัตว์ทางทะเลหลายประเภทที่ถูกพบในหลินอี๋ ลาเกอร์สแตท ไม่เพียงให้ข้อมูลสิ่งมีชีวิตในยุคดังกล่าว แต่ยังเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่นำไปสู่ความแตกต่างเชิงสัณฐานวิทยา โครงสร้างการอยู่ร่วมกัน และการกระจายพันธุ์ทางบรรพชีวินวิทยาของสัตว์ทะเลหลังปรากฏการณ์แคมเบรียน เอ็กซ์โพลชัน

ข่าว โดยสำนักข่าวซินหัว, 28 เม.ย.2022


กำลังโหลดความคิดเห็น