xs
xsm
sm
md
lg

เรียบร้อย! จีนเซ็นสัญญาความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอน ตัดหน้าสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรีมานาสเซห์ โซกาแวร์ ของหมู่เกาะโซโลมอน กับนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน ระหว่างพิธีลงนามข้อตกลงฉบับหนึ่งในกรุงปักกิ่ง เมื่อเดือน ต.ค.ปี 2562 - ภาพเอพี
กลุ่มสื่อต่างประเทศ - สหรัฐฯ พลาดท่าช้ากว่าจีนไปก้าวหนึ่งจนได้ หลังจากกระทรวงต่างประเทศมะกัน เพิ่งประกาศเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปหมู่เกาะโซโลมอน หวังสกัดการลงนามข้อตกลงด้านความมั่นคงกับจีน แต่คล้อยหลังแค่หนึ่งวัน ปักกิ่งก็ประกาศข่าวการลงนามเป็นที่เรียบร้อย

ข้อตกลงฉบับนี้ไปลงนามกันตอนไหนและเมื่อไร ไม่มีใครรู้

ในการแถลงของกระทรวงต่างประเทศจีนเมื่อวันอังคารที่ 19 เม.ย. นายหวัง เหวินปิน โฆษกบอกเพียงว่า เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นการลงนามกรอบความตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างจีนกับหมู่เกาะโซโลมอน ด้วยความเห็นชอบของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย โดยมีนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กับนายเจเรเมียห์ มาเนเล รัฐมนตรีต่างประเทศและการค้าของหมู่เกาะโซโลมอนเป็นตัวแทนผู้ลงนาม

โฆษกหวัง ยังย้ำด้วยว่า จุดมุ่งหมายของกรอบความตกลงฉบับนี้มิได้มุ่งเป้าประสงค์ไปยังชาติที่ 3 ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของหมู่เกาะโซโลมอนในการรักษาความสงบสุขมั่นคงของประเทศ ทั้งในด้านการรักษาระเบียบของสังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการรับมือกับภัยธรรมชาติ

แน่นอนว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรไม่มีวันเชื่อน้ำมนต์ของจีน โดยเจ้าหน้าที่ของออสเตรเลียกล่าวหาว่า จีนชิงลงมือ ก่อนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ 2 คนคือนายเคิร์ต แคมป์เบล และนายแดเนียล คริเทนบริงก์ จะไปเยือนหมู่เกาะโซโลมอนในสัปดาห์นี้ เพื่อถ่ายทอดให้รัฐบาลกรุงโฮนีอารา รับทราบถึงความวิตกกังวลของรัฐบาลสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ซึ่งรวมทั้งออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กรณีจีนเข้ามาดำเนินบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคนี้

เด็กๆ กำลังหาปลาที่ชายหาดในกรุงโฮนีอารา ประเทศหมู่เกาะโซโลมอน เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2565 - ภาพรอยเตอร์
เกมชิงไหวชิงพริบ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการแผ่ขยายอิทธิพลแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มาช้านาน เริ่มร้อนระอุ นับตั้งแต่หมู่เกาะโซโลมอนทิ้งไต้หวัน และหันมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับปักกิ่งเมื่อปี 2562 จากนั้นอีกไม่กี่วัน ชาติหมู่เกาะในแถบนี้อีกรายคือ หมู่เกาะคิริบาส ก็ดำเนินรอยตาม จนกระทั่งเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอนก็ยอมรับว่า ได้มีการร่างข้อตกลงด้านความมั่นคงกับจีนแล้ว

เมื่อวันจันทร์ที่ 18 เม.ย.นี้เอง นายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เพิ่งตั้งข้อสังเกตไปหยกๆ เกี่ยวเนื้อหาของร่างข้อตกลง ซึ่งรั่วไหลออกมาว่า ขาดความโปร่งใส คลุมเครือและครอบจักรวาล ซึ่งอาจเปิดช่องให้จีนส่งกองทหาร หรือเข้ามาตั้งฐานทัพในหมู่เกาะโซโลมอนได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็อาจทำให้หมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งเพิ่งเกิดเหตุจลาจลวุ่นวายทางการเมืองเมื่อปลายปีที่แล้ว ยิ่งเกิดความวุ่นวายและขัดแย้งกันมากขึ้น รวมไปถึงการไร้เสถียรภาพทั่วภูมิภาค

 
แม้ข้าวสารได้กลายเป็นข้าวสุกเสียแล้วในตอนนี้ แต่สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSC) ยังคงยืนยันว่า สหรัฐฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นมากขึ้นในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงทางทะเล ไปจนถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ วิกฤตโลกร้อน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่น่าท้าทายแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งสิ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น