xs
xsm
sm
md
lg

อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจีนชี้ ‘หยวนดิจิทัล’ มุ่งบทบาทในการค้าปลีก ไม่แทนที่ ‘ดอลลาร์สหรัฐ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพกราฟิกแสดงแอปพลิเคชันบนมือถือ หยวนดิจิทัล หรือ e-CNY ออกโดยธนาคารกลางจีน (แฟ้มภาพ : รอยเตอร์)
อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจีน นายโจว เสี่ยวชวน ย้ำแผนการผลักดัน ‘หยวนดิจิทัล’ ของจีนนั้นมีเป้าหมายมุ่งใช้ในธุรกรรมภาคค้าปลีก และจะไม่ขึ้นมาแทนที่ ‘ดอลลาร์สหรัฐ’ หรือใช้เป็น “อาวุธทางการทหาร” พร้อมกับเตือนว่าหากชาติตะวันตกใช้ระบบธุรกรรมการเงินชั้นนำของโลก คือ Swift มาเป็นเครื่องมือคว่ำบาตร ก็อาจมีบางกลุ่มหนีไปใช้ช่องทางอื่นแทน

คำเตือนของอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจีน เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่า ระบบการชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามพรมแดน หรือ CIPS (Cross-border Interbank Payment System) ของจีน จะเป็นช่องทางให้รัสเซียซึ่งกำลังปฏิบัติการพิเศษทหารในยูเครน เลี่ยงผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตรและถูกตัดออกจาก Swift ซึ่งเป็นระบบสื่อสารการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงินที่ใหญ่สุดของโลก

อดีตผู้ว่าธนาคารประชาชนจีน หรือธนาคารกลางจีน นายโจว เสี่ยวชวน กล่าวปราศรัยในฟอรัมการเงินโลกประจำปี 2022 ของมหาวิทยาลัยชิงหวา ในกรุงปักกิ่ง (2022 Tsinghua PBCSF Global Finance Forum) เมื่อวันเสาร์ (16 เม.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งในการประชุมมีการถกเถียงเรื่อง บทบาทหยวนดิจิทัล CIPS และ Swift ในสถานการณ์ที่ภูมิรัฐศาสตร์ไร้เสถียรภาพ

นายโจว เสี่ยวชวน เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติจีนถึง 16 ปี (2002-2018) ส่วนหยวนดิจิทัล หรือ e-CNY ออกโดยธนาคารกลางจีนซึ่งได้วิจัยและพัฒนาหยวนดิจิทัลในช่วงปี 2014

อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจีนกล่าวถึงบทบาทหยวนดิจิทัล ว่า อย่างน้อยๆ หยวนดิจิทัลถูกกำหนดบทบาทการใช้ในภาคค้าปลีก เพื่อความสะดวกของประชาชนและผู้ค้า โดยไม่มีเป้าหมายผลักดันหยวนดิจิทัลให้ขึ้นมามีบทบาทแทนที่ดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ และระบบชำระเงิน (payment currency) อย่างที่บางสื่อต่างประเทศวิพากษ์วิจารณ์กัน

นายโจว ยังปรามอีกว่าไม่ควรนำหยวนดิจิทัลมาเชื่อมโยงกับการผลักดันเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินสากลซึ่งจะต้องขึ้นกับการตัดสินนโยบายต่างๆ อีกมากและการเปิดกว้าง ไม่ใช่แค่เรื่องของปัจจัยทางเทคนิค

พร้อมกันนี้ โจวได้ปฏิเสธข่าวที่ระบุว่าธนาคารกลางต้องการผลักดันหยวนดิจิทัลขึ้นมาแทนที่ระบบชำระเงิน (third party payment)

อย่างไรก็ตาม อดีตนายใหญ่แบงก์ชาติจีนมิได้ตัดความเป็นไปได้ที่หยวนดิจิทัลอาจจะถูกใช้ในการชำระเงินข้ามพรมแดนในอนาคต แต่จะยังมุ่งไปที่ธุรกิจจการค้าปลีก อย่างเช่น ธุรกรรมค้าปลีกข้ามพรมแดน และจะไม่ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทางการทหาร

อดีตผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน หรือธนาคารกลางจีน นายโจว เสี่ยวชวน กล่าวปราศรัยบนเวที 2022 Tsinghua PBCSF Global Finance Forum เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2022
สำหรับ CIPS ถูกกำหนดขึ้นมาให้เป็นระบบหักบัญชีและชำระเงินสำหรับธุรกรรมข้ามพรมแดนที่ใช้สกุลเงินหยวน ระบบนี้เปิดทางให้สกุลเงินอื่นด้วย สกุลเงินกระแสหลักก็สามารถใช้ CIPS แต่จนถึงปัจจุบันไม่ค่อยมีสกุลเงินหลักใดเข้ามาใช้ระบบนี้

จากรายงานของสื่อจีน Jiefang Daily ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว จำนวนธุรกรรมใน CIPS มีมากกว่า 3.3 ล้าน เพิ่มขึ้นกว่า 50 เปอร์เซนต์จากปีก่อนหน้า มูลค่าธุรกรรมที่ดำเนินในการปี 2021 สูงราวๆ 80 ล้านล้านหยวน (12.56 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) สูงขึ้นกว่า 75 เปอร์เซนต์ เทียบกับปี 2020

กลุ่มที่เข้าร่วมใช้ CIPS มีจำนวน 1,259 ราย โดยระบบครอบคลุมถึง 103 ประเทศ/เขต ส่วนกลุ่มสถาบันการเงินต่างประเทศที่เข้าร่วมในระบบมี 649 ราย คิดเป็นสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด

ด้าน Swift เผยในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ในปีแล้วมีธุรกรรมด้านหลักทรัพย์และการชำระเงินที่ใช้บริการสื่อสารของ Swift โดยเฉลี่ย 42 ล้านธุรกรรมต่อวัน

ในการปราศรัยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นายโจยังย้ำว่า ระบบการค้าโลกไม่ควรถอยหลังเข้าคลองกลับไปมีรูปแบบที่เคยเป็นสมัยสงครามเย็น

“หากระบบการชำระเงินของโลก หรือบริการสื่อสารการเงินถลำสู่รูปแบบสมัยสงครามเย็น ก็จะสร้างความเสียหายแก่ทุกคนทุกฝ่าย เนื่องจากการใช้ Swift เป็นอาวุธจะปิดกั้นกระแสไหลเวียนเงินทุนของหลายประเทศ”

ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต้องคิดไตร่ตรองให้ดีๆ ว่า ถ้า SWIFT ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการคว่ำบาตร ผู้ที่ถูกกีดกันเข้ามาในระบบนี้ก็จะต้องหาช่องทางสื่อสารอื่นมาดำเนินการค้า

อย่างไรก็ตาม โจวยอมรับว่า SWIFT มีจุดเด่นในด้านต่างๆ ได้แก่ ประสิทธิภาพ ขนาดของตลาด ความมั่นคง ความน่าเชื่อถือ และกระบวนการอัตโนมัติที่มีกลุ่มสถาบันการเงินจำนวนมากเชื่อมอยู่ในระบบ

การสร้างช่องทางสื่อสารระหว่างสถาบันการเงินขึ้นมาแทนที่ SWIFT นั้นจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนถ่ายระบบ และมีงานอีกมหาศาลที่จะต้องทำ โดยระหว่างการเปลี่ยนถ่ายนี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการค้าโลกที่มีประสิทธิภาพ

การออกมาพูดย้ำเกี่ยวกับบทบาทของหยวนดิจิทัลนี้ยังเกิดหลังจากที่ธนาคารกลางจีนเพิ่งประกาศขยายเขตนำร่องใช้เงินหยวนดิจิทัลรอบที่สาม

ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนได้เริ่มดำเนินโครงการนำร่องเพื่อทดสอบการใช้สกุลเงินนี้แทนเงินสด จากปี 2019 ได้แก่ เซินเจิ้น ซูโจว สยงอัน เฉิงตู และบริเวณจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ต่อมาในเดือน พ.ย. ปี 2020 ได้ประกาศเขตนำร่องใช้หยวนดิจิทัลเพิ่ม ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ไห่หนัน ฉางซา ซีอัน ชิงเต่า ต้าเหลียน

ล่าสุด ในวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนประกาศเขตนำร่องใช้หยวนดิจิทัลครั้งที่สาม โดยกำหนดเขตทดลองใช้หยวนดิจิทัลเพิ่มอีก 11 เมือง ได้แก่ เทียนจิน นครฉงชิ่ง กว่างโจว มณฑลกว่างตง เมืองฝูโจว และเมืองเซี่ยะเหมินในมณฑลฝูเจี้ยน และ 6 เมืองในมณฑลเจ้อเจียงที่จะจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียน เกมส์ในปีนี้ กรุงปักกิ่ง เมืองจางจยาโข่วในมณฑลเหอเป่ย

ดังนั้น ปัจจุบันจีนมีเขตทดลองการใช้หยวนดิจิทัลทั้งสิ้นกว่า 20 เมือง/เขต

จากข้อมูล ณ ปลายปี 2021 รวบรวมโดยธนาคารกลางจีน ระบุธุรกรรมเงินหยวนดิจิทัล มีมูลค่าสูงประมาณ 87.57 พันล้านหยวน (13.75 เหรียญสหรัฐ) โดยมีกระเป๋าเงินหยวนดิจิทัลบุคคล 261 ล้านราย

ที่มา :

E-CNY designed for retail transactions, not to take place of dollar, expert says

SWIFT not irreplaceable, but substitution requires considerable preparation: former PBC chief

周小川:数字人民币设计是为了零售 不为取代美元

รายงานข่าวกลุ่มสื่อจีน : 第三批试点城市公布——数字人民币加速融入生活



กำลังโหลดความคิดเห็น