ในอดีตคนทั่วไปโดยเฉพาะในสังคมจีนที่ขึ้นชื่อในเรื่องรักหน้าตาอาจกระมิดกระเมี้ยนเวลาไปซื้ออาหารที่ใกล้หมดอายุกินเพราะอาจถูกมองว่ามีรายได้น้อยหรือกำลังถังแตก มาในปัจจุบันสภาพดังกล่าวกลับตาลปัตร กลุ่มผู้บริโภควัยหนุ่มสาวในจีนหันมานิยมบริโภคสินค้าอาหารที่ใกล้ถึงวันอายุมากขึ้นๆ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารใกล้หมดอายุถูกวางจำหน่ายในราคาส่วนลดซึ่งดึงดูดใจผู้บริโภคที่ต้องการประหยัด
“สินค้าใกล้หมดอายุเหล่านี้มักขายต่ำกว่าราคาตลาด 30-50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์ดังที่น่าสนใจมาก” อู่ หลิน นักศึกษาวัย 19 ปี มักต่อแถวหน้าร้านขายอาหารใกล้หมดอายุโดยเฉพาะ และกลับหอพักพร้อมกับขนมขบเคี้ยวลดราคาเต็มถุงเป็นประจำทุกสัปดาห์
อุตสาหกรรมอาหารใกล้หมดอายุในจีนบูมขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีนี้ และยังได้รับแรงหนุนจากนโยบายรัฐบาลที่รณรงค์การบริโภคที่ยั่งยืนโดยเรียกร้องให้ประชาชนช่วยขจัดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง หรือขยะอาหารของประเทศ
บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติจีน iiMedia Research ได้เผยแพร่รายงานคาดการณ์อุตสาหกรรมอาหารใกล้หมดอายุชุดล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ในรายงานระบุว่าขนาดของตลาดจะขยายใหญ่ขึ้นจากมูลค่าตลาด 31.8 พันล้านหยวน (หรือ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2021 เป็น 40.1 พันล้านหยวนในปี 2025 โดยอุตสาหกรรมนี้จะรักษาอัตราเติบโตที่ร้อยละ 6 ไปจนถึงปี 2025
นอกจากนี้ กลุ่มนวัตกรรมต่างๆ กำลังจับตามองการเติบโตของตลาอาหารใกล้หมดอายุ เพื่อพัฒนาช่องทาง หรือรูปแบบการจัดจำหน่าย จากการขายผลิตภัณฑ์ในซูเปอร์มาร์เกต และร้านค้าสะดวกซื้อ ไปถึงการผุดแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์
“เนื่องจากอาหารว่างกินเล่นจากต่างประเทศที่นำเข้ามามีราคาแพงมาก ผู้บริโภคจึงหันมาซื้อสินค้าอาหารประเภทนี้ตอนใกล้หมดอายุเพราะมีราคาถูกกว่ามาก” ชาวเน็ตจีนคนหนึ่ง โพสต์ใน ‘เวยปั๋ว’ โซเชียลมีเดียยอดนิยมคล้ายทวิตเตอร์ของจีน
ในปีที่แล้ว กลุ่มบริษัทที่โดดเข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดอาหารใกล้หมดอายุ มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก โดยมีกลุ่มธุรกิจที่จดทะเบียนใหม่ เพิ่มจากจำนวน 12 ราย ในปี 2020 เป็น 68 รายในปี 2021
กลุ่มร้านค้าอย่างเช่น ฮอตแม็กซ์ (HotMaxx), HitGoo และ เหอหม่า เฟรช (Hema Fresh) ต่างหันมามุ่งขายอาหารใกล้หมดอายุกัน
ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ผู้บริโภคหันมาชอปออนไลน์กันมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30 ของการขาย ซึ่งได้เปิดโอกาสทองให้อาหารใกล้หมดอายุเข้าสู่ตลาดด้วย
ใน เถาเป่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่สุดของจีน ก็เสนอขายขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ลูกกวาด ช็อตโกแลต ที่ใกล้วันหมดอายุในราคาที่ถูกกว่าราคาปกติ
เถาเป่า เผยข้อมูลสถิติเมื่อปีที่แล้ว (2021) ระบุว่ามีผู้คนซื้ออาหารประเภทนี้บนแพลตฟอร์มราว 2.1 ล้านคนในทุกปี
แรงกระตุ้นจากนโนบาย ‘จานอาหารสะอาด’ และกฎหมายห้าม ‘รายการโชว์กินอาหาร’
จีนประกาศนโยบายต่อต้านการกินทิ้งกินขว้าง โดยจัดการรณรงค์ “Operation Clean Plate” (#光盘行动#) กินหมดเกลี้ยงจาน เพื่อลดขยะอาหารและสร้างการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2013 และมีการปลุกกระแสต่อต้านการกินทิ้งกินขว้างมาตลอด ในปี 2020 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกมาย้ำกับประชาชนให้ตระหนักถึงวิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร ด้านรัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศก็สนองนโนบายกันพรึ่บ โดยออกมาตรการต่างๆ เช่น สั่งการให้เหล่าภัตตาคารในจีนจัดกล่องใส่อาหารกลับบ้านสำหรับใส่อาหารเหลือ และลดปริมาณอาหารในเมนูต่างๆ เพื่อส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน
ในเดือน เม.ย.ปีที่ผ่าน (2021) จีนยังได้คลอดกฎหมายห้าม “รายการโชว์กินอาหาร” หรือ “การแข่งขันกินอาหาร” บนโซเชียลมีเดีย และกำหนดโทษปรับอย่างหนักสำหรับผู้ฝ่าฝืน
ขณะที่กฎหมายช่วยให้ประชาชนตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมและจิตสำนึกทางสังคมมากขึ้น บล็อกเกอร์ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับอาหารก็เริ่มแชร์ความนิยมชมชอบอาหารใกล้หมดอายุ
แพทย์ในปักกิ่ง นพ.หลิว จยาหย่ง เป็นคนหนึ่งที่หันมารณรงค์อาหารใกล้หมดอายุ โดยชี้ว่าอาหารใกล้หมดอายุ ยังกินได้และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ราคาถูก อีกทั้งช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อม บัญชีเวยปั๋วของเขาซึ่งแชร์วิดีโอเกี่ยวกับอาหารใกล้หมดอายุ มีผู้ติดตามกว่า 500,000 คน
บางผู้ใช้เว็บไซต์แชร์วิดีโอ อย่าง Bilibili ได้แชร์คลิปเกี่ยวกับการไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ และได้อาหารว่างกินเล่นมาเต็มรถเข็นในราคาเพียง 100 หยวน
ลิลลี่ บล็อกเกอร์แพลตฟอร์มชุมชนออนไลน์ โต้วป่าน (Douban) พบว่าช่องทางนำเสนอเรื่อราวของเธอได้รับความสนใจมากขึ้นหลังที่จีนผ่านกฎหมาย และอาหารใกล้หมดอายุกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรง
กลุ่ม “คนรักอาหารใกล้หมดอายุ” มีคนแห่มาเข้าร่วมขบวนมากขึ้น จากจำนวน 20,000 คนใน 2 เดือนแรกที่เปิดตัวเมื่อเดือน ก.ย.2020 เพิ่มเป็น 60,000 คนในปีที่แล้ว ขณะนี้มีผู้ติดตามมากกว่า 90,000 คน ที่เข้ามาแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการซื้ออาหารใกล้หมดอายุ
อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ทำให้คนวัยสาวรุ่นอย่างลิลลี่หันมาซื้ออาหารใกล้หมดอายุ เป็นเพราะราคาที่ย่อมเยามากกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม
กลุ่มคนรายได้ปานกลางกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของสินค้าใกล้หมดอายุ จากข้อมูลวิจัยของ iiMedia ชี้ว่าสินค้าใกล้หมดอายุที่พวกเขานิยมซื้อได้แก่ อาหารว่างกินเล่นหรือสแน็ก ขนมปัง เส้นพาสต้า และผลิตภัณฑ์นมเนย
โดยมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้บริโภคอาหารใกล้หมดอายุในจีน กลับไปซื้อสินค้าทุกเดือน ขณะที่เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์อยากแนะนำสินค้าให้คนอื่นๆ
“มันยังไม่หมดอายุ ยังกินได้ และราคาถูกด้วย แม้ฉันจะไม่จนถังแตกก็ยังอยากที่จะซื้อมัน” ผู้ใช้เวยปั๋วคนหนึ่งกล่าว
แต่มีบางคนที่ยังดูถูกกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าใกล้หมดอายุ โดยมองว่าคนที่ซื้อสินค้าใกล้หมดอายุเป็นพวกไม่มีเงิน หรือรายได้น้อย
การวิจัยชุดใหม่ล่าสุดของ iiMedia ยังเพิ่มเติมอีกว่า 67.8 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคจีนกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหารมากที่สุด และ 50 เปอร์เซ็นต์ กังวลว่าข้อมูลที่เขียนบนฉลากสินค้าถูกต้องหรือไม่
ปีที่แล้วร้านค้าจำหน่ายสินค้าใกล้หมดอายุได้บุกตลาดตามเมืองต่างๆ ทั่วจีน โดยเฉพาะกลุ่มเมืองชั้นหนึ่ง อย่างเช่นในกรุงปักกิ่ง โดยขายสินค้าหลากหลาย เนื่องจากราคาที่ถูกกว่าสินค้าในซูเปอร์มาร์เกตทั่วไป ร้านค้าเหล่านี้จึงได้รับการต้อนรับจากคนท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว
ฮอตแม็กซ์ (HotMaxx) หนึ่งในร้านค้าที่บุกตลาดอาหารใกล้หมดอายุ มีร้านค้าสาขาจำนวนมากตามเมืองใหญ่หลายเมือง และโดยขยายสาขามากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ
โจว พนักงานการตลาดของฮอตแม็กซ์ สาขาเหอเฝย กล่าวว่า ร้านค้าที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดย่านใจกลางเมืองเหอเฝย รองรับลูกค้าช่วงหยุดยาวมากกว่า 1,000 คนต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่กลับมาใช้บริการอีก และเพื่อประกันความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้า ทางร้านจึงให้ความสำคัญกับต้นทางของสินค้าใกล้หมดอายุ โดยปกติร้านของโจวจะทำธุรกิจกับซูเปอร์มาร์เกตและแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพอยู่เสมอ
จากข้อมูลที่สรุปถึงปี 2015 ของสถาบันสังคมศาสตร์แห่งจีน ระบุว่าในปีหนึ่งๆ ในจีนมีการทิ้งอาหารหรือขยะอาหารมากกว่า 35 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 6 ของการผลิตอาหารทั้งหมดของประเทศ โดยประมาณครึ่งหนึ่งของขยะอาหารเกิดขึ้นในภาคค้าปลีกหรือห่วงโซ่ซัปพลายขั้นสุดท้ายของการบริโภค
ที่มาข้อมูล : ชาวจีนรุ่นใหม่นิยม ‘อาหารใกล้หมดอายุ’ ส่งเสริมการบริโภคยั่งยืน
China’s food security concerns boost soon-to-expire trend, industry set to be worth US$6 billion by 2025
Clean Plate Campaign