โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ (UIBE) วิทยาลัยนานาชาติ (SIE) กรุงปักกิ่ง
ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะมาเล่าสู่กันฟังถึงตลาดแรงงานจีนในยุคปัจจุบันที่ประสบกับความกดดันจากหลายด้าน เช่น สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่แผ่ขยายอย่างรวดเร็วหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ การชะลอการเติบโตของภาคธุรกิจไอทีที่เคยรุ่งเรืองจ้างงานเป็นจำนวนมาก กระแสคนรุ่นใหม่หลั่งไหลเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมไอที กลายเป็นหลายบริษัทไอทีจำเป็นต้องปรับโครงสร้างและลดจำนวนพนักงานลงเพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้หลายบริษัทปลดพนักงานออกหลายตำแหน่ง ผู้เขียนนับๆ ดูช่วง 2 ปีมานี้หลายบริษัทไอทีรวมกันปลดพนักงานไปแล้วน่าจะมากกว่า 10,000 ตำแหน่งแน่นอน
คนจีนรุ่นใหม่มองว่าการหางานยากขึ้น การแข่งขันสูง มีความกดดันมาก โดยในแต่ละปีนักศึกษาจบใหม่และเข้ามาในตลาดแรงงานมีจำนวนหลายร้อยล้านคนต่อปี เมื่อเศรษฐกิจถดถอย เกิดโรคระบาด งานภาคบริการหลายประเภทที่เคยเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการจ้างงานมากกลับน้อยลง อัตราการแข่งขันในตำแหน่งงานมีมากขึ้น ยิ่งในช่วงของการชะลอตัวจากโรคระบาดโควิด-19 นี้
ในช่วงของสถานการณ์ตลาดแรงงานที่ไม่แน่นอนนี้ รัฐบาลชูนโยบาย "การเติบโตอย่างมั่นคงและการรับประกันการจ้างงาน" ผู้เขียนมองว่าจากความกดดันและปัจจัยลบหลายด้านทำให้การประกันจ้างงานเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะการจ้างงานในประเทศส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน หากว่าธุรกิจเอกชนซบเซาลงก็เป็นไปได้ยากที่จะมีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยปัญหาหลักๆ ที่ตลาดแรงงานในจีนประสบอยู่ขณะนี้ ได้แก่
-การลดตำแหน่งงานและการปิดกิจการในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่หยุดสรรหาบุคลากรเพื่อควบคุมขนาดและรายจ่าย
-โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างต่อเนื่อง เด็กมหาวิทยาลัยจีนส่วนใหญ่ยังไม่พบงานในอุดมคติ แม้ว่าจะใช้เวลาการหางานนาน ความล้มเหลวในการหางานซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ค่อยๆ รู้สึกไม่มีความหวังในปัจจุบัน และหลายคนเลือกที่จะสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาโท เผื่อว่าในอนาคตจะมีโอกาสที่ดีกว่า
- อัตราการว่างงานของคนจีนในเมือง ปัจจุบันอยู่ในระดับประมาณ 6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่รัฐบาลประกาศไม่นับรวมกับประชาชนว่างงานในชนบท หลายคนบอกว่าจริงๆ แล้วตัวเลขคนว่างงานในจีนน่าจะมากกว่านี้เยอะ เพราะตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 มา ภาคการบริการและการก่อสร้างได้รับผลกระทบหนัก แรงงานทั้งหลายที่ตกงานก็กลับภูมิลำเนากันมาก ซึ่งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบอย่างเด่นชัดต่อการจ้างงาน ต่อมาการบริโภคส่งผลกระทบต่อการผลิต การบริโภคที่ลดลงส่งผลให้การผลิตลดลง เมื่อผลกำไรของบริษัทลดลงก็ต้องทำให้ลดการจ้างงานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายหรือต้นทุน
จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความกังวล ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพื่อนรอบตัวผู้เขียนเอง ต่างก็บอกว่าช่วงนี้ไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าโยกย้าย ลาออก เพราะตอนนี้การจะเปลี่ยนงานไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยก่อน อีกทั้งเพื่อนหลายคนของผู้เขียนปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินกันมากขึ้น เพราะไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตจะมีวิกฤตอะไรมาหาเราอีก
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมุ่งนโยบายกำกับดูแลอย่างเข้มงวดต่อกลุ่มอุตสาหกรรมไอที ทำให้การเติบโตพุ่งแรงเหมือนแต่ก่อนเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้การหางานของคนรุ่นใหม่ตามเมืองใหญ่ทำได้ยากขึ้น ตามสถิติของกระทรวงศึกษาธิการจีนในปี 2022 นี้ นักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศจบใหม่ในปีนี้จะสูงถึง 10.76 ล้านคน แต่คาดการณ์ว่าในบรรดาเขตเมืองมีตำแหน่งงานใหม่เพียง 11 ล้านตำแหน่ง ขณะที่กลุ่มคนตกงานนานเป็นปีๆ หรือหลายปีจำนวนมากดิ้นรนหางานอยู่ ซึ่งหมายความว่าผู้สำเร็จการศึกษาใหม่จะเผชิญการแข่งขันที่สูงมากขึ้นในการหางาน
ส่วนจำนวนแรงงานชนบทที่เข้าไปทำงานตามเขตเมือง ในปี 2020 ราว 5.2 ล้านคนเดินทางกลับบ้านเกิด และในปี 2021 ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในเมืองใหม่อีกครั้งแล้ว แต่ก็ยังมีอีกจำนวน 1.7 ล้านคนติดค้างอยู่ในชนบทไม่ได้ทำงาน แรงงานชนบทเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด เนื่องจากโดยปกติแล้วจะเป็นแรงงานทักษะต่ำและมักจะเป็นสัญญาจ้างระยะสั้นเท่านั้น และเป็นเรื่องยากที่คนกลุ่มนี้ว่างงานแล้วจะได้รับผลประโยชน์จากประกันสังคม เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสัญญาทำงานชั่วคราวระยะสั้น ไม่สามารถขอรับใบรับรองการทำงานจากบริษัทได้ จึงไม่สามารถไปขอเงินประกันการว่างงานได้
หลังปี 2021 การปฏิรูปสำคัญๆ อย่างเช่น มาตรการลดความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และภาคการศึกษาโรงเรียนกวดวิชาเอกชน มีการกำกับดูแลที่เข้มข้นทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคเหล่านี้ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย จากรายงานการสำรวจของเว็บไซต์รับสมัครงาน Zhaopin.com แสดงให้เห็นว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าบริษัทของพวกเขามีแผนการปรับลดพนักงาน และกลุ่มธุรกิจใน 3 ภาคที่กล่าวไปจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนดูเหมือนจะทำให้หลายอย่างแย่ลงไปอีก จากบรรยากาศมหภาคขณะนี้ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ยังสังเกตการณ์และไม่กล้าขยายทุนมากนัก
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ผู้เขียนสังเกตว่าข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับการจัดระเบียบบริษัทเอกชนมีน้อยลง ไม่ได้มีความเข้มข้นเหมือนกับปีที่แล้ว อีกอย่างใน 2 อาทิตย์นี้เพิ่งมีข่าวออกมาว่า หลายพื้นที่ในจีนเริ่มจะผ่อนคลายนโยบายการกู้เงินซื้อบ้าน โดยอย่างเมืองเยี่ยนเจียว ในมณฑลเหอเป่ย เป็นเมืองที่ติดกับปักกิ่ง ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เยี่ยนเจียวเคยคึกคัก โดยราคาเมื่อปี 2017-2018 ราคาบ้านขึ้นไปสูงถึงตารางเมตรละ 2 แสนบาท หลังจากมาตรการต่างๆ ลดความร้อนแรงและจำกัดการเก็งกำไรบ้าน ทำให้ปัจจุบันตกมาที่ตารางเมตรละไม่ถึง 1 แสนบาท และข่าวล่าสุดที่ออกมาที่เมืองเยี่ยนเจียวนี้จะลดเงินดาวน์บ้านจาก 50% ลงเหลือ 30% และไม่ใช่แค่เมืองนี้เท่านั้น เมืองชั้นสองสามสี่อื่นๆ ก็เริ่มจะมีสัญญาณที่จะผ่อนคลายมากขึ้น จากข่าวนี้ทำให้ผู้เขียนฉุกคิดได้ว่า เศรษฐกิจจีนอาจจะมาถึงจุดที่ต้องยอมผ่อนคลายบ้างเพื่ออยู่รอดจริงๆ เพราะอย่างที่ทุกท่านทราบ ภาคอสังหาริมทรัพย์คือภาคธุรกิจขนาดมหึมาของจีน สายป่านยาวและเกี่ยวโยงกับภาคการผลิตและบริการด้วย
รัฐบาลจีนเล็งเห็นปัญหาการปลดพนักงานในบริษัทเอกชนหลายแห่งไปจนถึงเด็กจบใหม่ในแต่ละปีหางานกันยากเรื่อยๆ จึงมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาคร่าวๆ ดังนี้
- ให้การค้ำประกันการจ้างงานสำหรับกลุ่มสำคัญและกลุ่มยากลำบาก เช่น การลงทะเบียนและประกันการหางานสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ที่ยังว่างงาน ส่งเสริมการจ้างงานโดยเร็วที่สุด ต่อมาคือสนับสนุนให้แรงงานชนบทหางานทำในท้องถิ่นและในบริเวณใกล้เคียงได้ สนับสนุนเอกชนให้ความสำคัญกับการจ้างงานในกลุ่มเปราะบาง
- สนับสนุนให้วิสาหกิจสร้างเสถียรภาพของงานและการจ้างงาน มีนโยบายการลดภาษีและค่าธรรมเนียมแบบกำหนดระยะและเป้าหมายอย่างเต็มที่ รัฐบาลแบ่งเบาภาระลดเก็บเงินประกันสังคมจากบริษัท เป็นต้น
- ปล่อยเงินกู้หมุนเวียนในธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น การพัฒนาตลาดผ่านการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐกับเอกชนให้ร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพในการพัฒนาและรับรองความมั่นคงของตำแหน่งงานในสังคม
- การรักษาเสถียรภาพของตลาด ใช้เครื่องมือด้านนโยบายอย่างเหมาะสม เช่น ลดภาระด้านภาษีให้เอกชน และรัฐช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของตลาดผู้บริโภค อย่างเช่นในช่วงตรุษจีนหรือเทศกาลหยุดยาวในประเทศ 2 ปีนี้ รัฐบาลจีนออกคูปองอั่งเปาแบบดิจิทัลหยวนในบางพื้นที่เพื่อให้ประชาชนเอาไปชอปปิ้งใช้จ่ายในช่วงหยุดยาว เป็นต้น
ผู้เขียนมองว่าความท้าทายของตลาดแรงงานจีนในปีนี้มีมากเหลือเกิน ในขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ มีข่าวในมือถือเด้งข้อความว่า เหมยถวน (美团) แอปเดลิเวอรีได้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก ทุกครั้งที่เห็นข่าวพวกนี้จะมีความกังวลทุกครั้ง แต่จีนมีข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งคือตลาดที่ใหญ่ ประชาชนมาก การฟื้นตัวที่ผ่านมาทำได้รวดเร็ว แต่กระนั้นแล้วก็ต้องดูกันต่อไปว่ารัฐบาลจีนจะพยุงและแก้ปัญหาการว่างงานของประชาชนกันต่อไปอย่างไร