เซอร์เบีย ชาติพันธมิตรของรัสเซีย ได้รับมอบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานล้ำสมัยจากจีน ซึ่งเริ่มเคลื่อนไหวแสดงแสนยานุภาพทางทหารในยุโรปเป็นครั้งแรกอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน
สื่อมวลชนและผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารรายงานว่า เครื่องบินลำเลียง Y-20 จากทัพฟ้าแดนมังกร 6 ลำ ร่อนลงจอดที่ท่าอากาศยานนิโคลาเทสลา ซึ่งเป็นสนามบินพาณิชย์ในกรุงเบลเกรด ช่วงเช้ามืดวันเสาร์ที่ 9 เม.ย. เพื่อส่งมอบระบบขีปนาวุธยิงจากพื้นสู่อากาศ HQ-22 แก่กองทัพเซอร์เบีย ซึ่งจะทำให้เซอร์เบียเป็นชาติแรกในยุโรปที่มีระบบขีปนาวุธของจีนไว้ใช้
ปฏิบัติการครั้งนี้กระทำอย่างไม่เปิดเผย แต่ก็หาใช่ความลับเสียทีเดียว โดยในตอนแรกมีการบันทึกภาพเครื่องบินขนส่งมีตรากองทัพจีนไว้ได้ แต่ยังไม่มีใครทราบเรื่องราวละเอียด กระทั่งประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูซิช ของเซอร์เบียออกมายืนยัน ซึ่งเป็นการส่งมอบตามข้อตกลงที่ทำร่วมกันเมื่อปี 2562 เขาระบุว่า เป็นความภาคภูมิใจใหม่ล่าสุดของกองทัพเซอร์เบีย
เครื่องบินของจีนลำเลียงขีปนาวุธบินผ่านน่านฟ้าของชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ อย่างน้อย 2 รายคือ ตุรกี และบัลแกเรีย แม้ว่าชาตินาโต้เพื่อนบ้านเคยบอกกับเซอร์เบียเองว่า จะไม่ยอมให้เครื่องบินขนขีปนาวุธบินผ่านน่านฟ้าของตนอย่างเด็ดขาด เพราะเดี๋ยวจะเป็นเรื่องในยามหน้าสิ่วหน้าขวานวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน
การบินผ่านได้อย่างสะดวกโยธินนี้เอง ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารชี้ว่า แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นของจีน ในปฏิบัติการทั่วโลก
นิตยสารออนไลน์ Warzone ยังระบุด้วยว่า การปรากฏตัวของ Y-20 คราวนี้ไม่ธรรมดา เพราะบินมาเป็นฝูงถึง 6 ลำ จากปกติที่บินฉายเดี่ยว แถมยังบินมายุโรปเสียอีก ซึ่งไม่ว่าจะมากี่ลำ ก็นับเป็นพัฒนาการใหม่ทีเดียว และจีนได้แสดงแสนยานุภาพให้ประจักษ์ชัดแล้ว
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2563 เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เคยปรามเซอร์เบียว่า ถ้าอยากเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มพันธมิตรอื่นๆ ของตะวันตก ก็อย่าซื้อระบบขีปนาวุธ HQ-22 ของจีน ซึ่งเวอร์ชันที่ส่งออกคือ FK-3 เพราะเซอร์เบียจะมีอาวุธไม่เข้ากับมาตรฐานของตะวันตก
มองกันว่า ระบบขีปนาวุธของจีนสามารถเทียบชั้นได้กับระบบขีปนาวุธแพทริออตของสหรัฐฯ และระบบขีปนาวุธยิงจากพื้นสู่อากาศ S-300 ของรัสเซีย แม้มีพิสัยการยิงไม่เท่า S-300 ซึ่งมีความล้ำหน้ากว่าก็ตาม
เซอร์เบียได้ทำเรื่องขอเข้าเป็นสมาชิกอียูอย่างเป็นทางการ แต่ที่ผ่านมา มีความร่วมมือด้านอาวุธกับรัสเซียและจีนด้วยเช่นกัน จนชาติตะวันตกหนาวๆ ร้อนๆ ว่า การติดอาวุธให้เซอร์เบีย อาจจุดไฟสงครามบนคาบสมุทรบอลข่านอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโคโซโว ซึ่งประกาศเอกราชจากเซอร์เบียในปี 2551 และสหรัฐฯ ตลอดจนชาติตะวันตกส่วนใหญ่ให้การยอมรับ แต่เซอร์เบีย รัสเซีย และจีนปฏิเสธให้การรับรอง
ข้อมูลจาก "China makes semi-secret delivery of missiles to Serbia" สำนักข่าวเอพี