ภาพยนตร์ทุ่มทุนสร้างและโกยเงินถล่มทลาย 3 เรื่องของฮอลลีวูด ซึ่งคาดหวังกันสูงว่า จะช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ที่ซบเซาในเมืองจีน ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ในช่วงใกล้สิ้นเดือน มี.ค.2565 แต่ “เดอะ แบตแมน” (The Batman) “มูนฟอลล์” (Moonfall-วันวิบัติจันทร์ถล่มโลก) และ “อันชาร์ตเต็ด” (Uncharted - ผจญภัยล่าขุมทรัพย์สุดขอบโลก) กลับทำไม่สำเร็จ
เมื่อดูในแพลตฟอร์มจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์เหมาเหยียน (Maoyan) ของจีนเมื่อวันพุธที่ 30 มี.ค. ปรากฏว่า ยอดขายตั๋วของทั้ง 3 เรื่องรวมกันยังพุ่งกระฉูดทะลุ 300 ล้านหยวน (47 ล้านดอลลาร์) ไม่ได้ โดย “เดอะ แบตแมน” ทำเงินได้ 117 ล้านหยวน “มูนฟอลล์” 7,468,000 ล้านหยวน และ “อันชาร์ตเต็ด” 90,310,000 ล้านหยวน
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนอาจเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะโรงภาพยนตร์บนจีนแผ่นดินใหญ่เปิดฉายได้แค่ร้อยละ 46.8 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กระแสนิยมหนังฮอลลีวูดบนแดนมังกรกำลังแผ่วลงอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ในสายตาของบุคคลในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีน ซึ่งมองว่า โควิด-19 ระบาดเป็นเพียง “ตัวเร่งปฏิกิริยา”
บุคคลในวงการระบุว่า มีหลายเหตุผลที่ทำให้คนเมืองจีนเริ่มเบื่อหนังฮอลลีวูด
นายสือ เหวินเสวีย (Shi Wenxue) นักวิจารณ์ภาพยนตร์ในกรุงปักกิ่งมองว่า เหตุผลประการแรกคือช่วงหลังๆ ฮอลลีวูดสร้างหนังจากต้นฉบับ ซึ่งแต่งขึ้นใหม่ออกมาน้อยมาก และด้วยความที่สร้างภาพยนตร์อย่างชนิดผลิตเป็นอุตสาหกรรม จึงมุ่งสร้างหนังแนวซีรีส์ หนังที่ดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูน หรือหนังที่เน้นวิชวลเอฟเฟกต์ (visual effects) หนังประเภทนี้จะทำรายได้สูง อย่าง “เดอะ แบตแมน” หรือ “สไปเดอร์-แมน” แต่ไม่มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ นอกเหนือจากมอบความประทับให้คนดูที่รู้สึกคิดถึงเท่านั้นเอง
แฮชแท็ก “ทำไมผู้ชมชาวจีนจึงไม่ชอบดูภาพยนตร์ฮอลลีวูด” เริ่มเป็นที่นิยมใน “ซีนาเวยปั๋ว” ทวิตเตอร์เวอร์ชันจีนเมื่อเร็วๆ นี้
ชาวเน็ตบางคนมองว่า เหตุผลสำคัญก็คือฮอลลีวูดกลายเป็นวงการค้าขายมากจนเกินไป ผลิตภาพยนตร์เหมือนอาหาร “ฟาสต์ฟูด” ที่ซ้ำซากจำเจ เป็นสายการผลิตที่ไร้นวัตกรรมใดๆ และภาพยนตร์ที่ฮอลลีวูดสร้างในปัจจุบันเทียบไม่ติดฝุ่นภาพยนตร์คลาสสิกในอดีต เช่น “เดอะ ก็อดฟาเทอร์”(The Godfather) “ฟอร์เรสต์ กัมป์” (Forrest Gump) และ “อวตาร” (Avatar)
นายซือ ชวน (Shi Chuan) รองประธานสมาคมภาพยนตร์เซี่ยงไฮ้ระบุว่า ภาพยนตร์จากชาติอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สร้างในเกาหลีใต้ หรือในญี่ปุ่นอย่างเรื่อง “ช้อปลิฟเตอร์ส” (Shoplifters - ครอบครัวที่ลัก) และในอินเดียอย่างเรื่อง “แดนกัล” (Dangal) ประสบความสำเร็จสูงในตลาดภาพยนตร์เมืองจีน เพราะเรื่องราวจากชาติเพื่อนบ้านสามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของคนดูหนังชาวจีนได้มากกว่า และแสดงให้เห็นว่า เนื้อเรื่องที่ดีเท่านั้นจึงจะกินใจผู้คน
นายซือ ยังอธิบายว่า สมัยที่เศรษฐกิจของจีนยังล้าหลังชาติอื่น ชาวจีนเข้าถึงแหล่งบันเทิงแบบง่ายๆ และรู้สึกประทับใจกับเทคโนโลยีและวัฒนธรรมของชาติที่เศรษฐกิจเจริญแล้ว ทว่าเดี๋ยวนี้คนจีนมีใจเปิดกว้างยอมรับความคิดใหม่ๆ มีความมั่นใจตัวเอง และรสนิยมในการดูภาพยนตร์พัฒนามากขึ้น
นอกจากนั้น ความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ ซึ่งจีนเป็นผู้สร้างคือ “วูล์ฟ วอริเออร์ 2" (Wolf Warrior 2 - กองพันหมาป่า 2) “เดอะ แวนเดอริงเอิร์ท” (The Wandering Earth - ปฏิบัติการฝ่าสุริยะ) และ “เดอะ แบตเทิล แอต เล้กฉางจิน” (The Battle at Lake Changjin - สมรภูมิทะเลสาบฉางจิน) คือสิ่งพิสูจน์ว่า ตลาดภาพยนตร์จีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
“เราสร้างวีรบุรุษของเราเอง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ จึงทำให้ตัวละครมีความน่าเชื่อสมจริงกว่า” นายซือ ระบุ
ในปี 2563 จีนแซงหน้าอเมริกาเหนือ กลายเป็นตลาดภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อดูจากรายได้ในการขายบัตรภาพยนตร์
อย่างไรก็ตาม นายซือ ชี้ว่า เหตุผลลึกๆ ระดับรากเหง้าที่ทำให้ภาพยนตร์ฮอลลีวูดได้รับความนิยมน้อยลง อาจเนื่องมาจากผู้ชมชาวจีนเกิดความสงสัยเกี่ยวกับอุดมการณ์ ซึ่งมีอเมริกาเป็นศูนย์รวม ตามที่ปรากฏในหนังฮอลลีวูด ซึ่งชอบพูดเกี่ยวกับ "อเมริกันดรีม" หรือวาดภาพความเป็นเจ้าโลกของอเมริกา แต่ทุกวันนี้คนจีนไม่นิยมชมชอบ หรือเชื่อมั่นในวีรษุรุษของอเมริกา ที่อยู่ในเนื้อหาของภาพยนตร์เหล่านั้นอีกต่อไปแล้ว
ข้อมูลจาก “Why Chinese audiences don’t love Hollywood blockbusters any more?” ในโกลบอลไทมส์