โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง UIBE
วันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมาเป็นวันที่รถไฟจีน-ลาวเปิดใช้ครบ 100 วัน ยอดสะสมของผู้โดยสารรถไฟสายนี้ 1.8 ล้านคน/ครั้ง ขบวนรถไฟที่ขนส่งสินค้ามีมากกว่า 1,500 ขบวนและปริมาณการขนส่งสินค้ามีมากกว่า 1.2 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีขบวนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจีน-ลาว 360 กว่าขบวน รวมปริมาณการขนส่งสินค้าสะสมระหว่างประเทศ 2.8 แสนตันและหลังจากการรถไฟจีน-ลาวเปิดวิ่งได้ไม่นาน เมืองหลักต่างๆในจีนอย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียง ฉงชิ่ง กว่างโจว และเจียงซู ต่างเตรียมเข้าร่วมเปิดขบวนรถไฟบริการขนส่งสินค้าตรงไปยังเวียงจันทน์ เมืองหลวงของสปป.ลาวกันเป็นจำนวนมาก เพียงระยะเวลา 100 วันที่เปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาวสายนี้ได้รับความนิยมและเฉพาะด้านของการขนส่งสินค้ามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ภาครัฐของจีนและลาว รวมทั้งภาคเอกชนของทั้งสองประเทศให้การสนับสนุนเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นอย่างมาก
“กระตุ้นการหมุนเวียนแบบบูรณการระหว่างประเทศ” คือไม่ใช่แค่ด้านของการขนส่งสินค้า การเดินทางของประชาชนระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ในด้านของเศรษฐกิจในพื้นที่ การสร้างงาน การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาก็มากขึ้นตามมาด้วย หลังจากการเปิดใช้งานรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวทำให้การเดินทางจากคุนหมิงไปถึงเวียงจันทน์ ใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้น
ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 นโยบายการป้องกันโควิด-19 ขาเข้าของจีนที่มีมาตรการคุมเข้ม ทำให้หลังจากการเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาวที่ผ่านมา การเดินทางของประชาชนระหว่างประเทศไม่คึกคักเพราะมาตรการการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ของสองประเทศที่ยังคงมีอยู่ ตรงกันข้ามการขนส่งสินค้าไม่ได้รับผลกระทบ สินค้าจีนส่งออกผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้ส่งออกไปยังเวียงจันทน์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น ผักผลไม้และดอกไม้สด ของใช้ในชีวิตประจำวันรวมไปถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทำให้สินค้าจีนไหลทะลักเข้ามายังลาวรวมถึงไทยด้วย
แน่นอนว่าการเปิดเส้นทางจีน-ลาวนี้ไม่เพียงแค่การค้าระหว่างแค่ 2 ประเทศนี้เท่านั้นที่เติบโต การขนส่งสินค้าทางบกระหว่างจีน-ไทยก็ได้รับอานิสงค์ตามไปด้วย อย่างเช่นผู้ค้าในคุนหมิงได้กล่าวว่า “ก่อนหน้าส่งเทปกาวส่งไปไทยทางทะเลต้องใช้เวลาถึง 15 วันแต่หลังจากรถไฟจีน-ลาวเปิดใช้ก็ใช้วิธีขนส่งทางรถไฟก่อนถึงสถานีเวียงจันทน์ แล้วเปลี่ยนการขนส่งทางถนนส่งไปไทยถึงกรุงเทพฯใช้เวลาเพียง 5 วันเท่านั้น ประหยัดเวลาและต้นทุนการขนส่งลงไปได้เยอะมากเลยทีเดียว”
Lancang Mekong Express เป็นบริการด้านการขนส่งระหว่างประเทศจีน-ลาวที่บริหารงานร่วมกันโดย China Railway Kunming Group และ Laos - China Railway Corporation โดยมีการให้บริการแบบครบวงจรทั้งการวางแผนเส้นทางการขนส่ง ประกันด้านเวลาการขนส่ง ราคาค่าบริการเป็นธรรมและการบริการด้านศุลกากรระหว่างประเทศ โดยบริการพิเศษนี้ทำให้การขนส่งสินค้าข้ามประเทศระหว่างจีน-ลาวมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนถึงวันที่ 12 มี.ค.บริการพิเศษ Lancang Mekong Express ได้ให้บริการขนส่งสินค้าไปทั้งสิ้น 30 กว่าขบวนแล้วและแนวโน้มจะมีมากขึ้นไปอีก
ในแง่ของการเปิดใช้รถไฟสายนี้กับการกระตุ้นเศรษฐกิจการพัฒนาในประเทศจีนก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เพราะเส้นทางสายนี้ออกเดินทางจากคุนหมิงลงใต้ ผ่านพื้นที่ชนบทมากมายและยังผ่านเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างเมืองสิบสองปันนาและเมืองผู่เอ่อ การท่องเที่ยว + รถไฟจีน-ลาว ทำให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวในประเทศใหม่และเกิดธุรกิจใหม่ตามมาด้วย และเพราะว่าการเปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวนี้ทำให้ตรุษจีนที่ผ่านมาอัตราการจองเข้าพักโรงแรมของสองเมืองนี้เพิ่มขึ้นถึง 60% และ 93% ตามลำดับ ทำให้ในอนาคตการลงทุนด้านการท่องเที่ยวจะลงมาที่สองเมืองนี้อีกเป็นจำนวนมากพร้อมทั้งอุตสาหกรรมการบริการท่องเที่ยวอื่นๆก็จะตามมาอีก ผู้เขียนมองว่าในประเด็นของการท่องเที่ยวนี้ หากว่าจีน-ลาวเปิดประเทศในอนาคตและการเดินทางระหว่างประชาชนกลับสู่ภาวะปกติ ภาคการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ รวมถึงไทยเราเองจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและเพิ่มขึ้นหลายเท่า นักท่องเที่ยวจีนจะผ่านเส้นทางสายนี้เข้ามาท่องเที่ยวลาวและไทยมากขึ้นอย่างแน่นอน
ในด้านปริมาณการค้าที่ขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว ทางกรมศุลกากรมณฑลยูนนานได้รายงานว่าจนถึงวันที่ 15 มี.ค.ปริมาณการค้าข้ามชายแดนผ่านรถไฟสายนี้มีอยู่ถึง 717 ล้านหยวน คิดเป็น1/4 ของปริมาณการค้าของมณฑลยูนนานทั้งหมด โดยเป้าหมายในปัจจุบันและอนาคตรถไฟจีน-ลาว ศูนย์ขนส่งกระจายสินค้าที่อยู่ในเส้นทางรถไฟจะขยายการให้บริการไปสู่ภาคอุตสาหกรรมการค้าออนไลน์ข้ามประเทศมากยิ่งขึ้น ภายใต้โมเดลการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน+รถไฟจีน-ลาว
ในด้านของฝั่งสปป.ลาวเพื่อนบ้านไทยเองก็มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการขยายการพัฒนาแนวทางรถไฟจีน-ลาว อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังสร้างใหม่มีชื่อว่า Vientiane Saysettha Development Zone เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ก่อตั้งร่วมกันระหว่างรัฐบาลจีนและลาว(G2G) โดยพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้มีความใหญ่ของพื้นที่มากกว่า 11.5 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ห่างจากเวียงจันทน์ 17 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ใจกลางเขตเมืองใหม่ของเวียงจันทน์
ตามแผนของ Vientiane Saysettha Development Zone คือจนถึงปี 2025 จำนวนบริษัทที่เข้ามามาอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีมากกว่า 150 บริษัท และจำนวนพนักงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีมากกว่า 50,000 คน และในปี 2030 การก่อสร้างในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ทั้งหมดเสร็จสิ้น โดยทางการจีนก็มีความหวังว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้จะมีความสำคัญต่อธุรกิจจีนที่จะออกมาลงทุนในอาเซียนในอนาคต เป็นฐานการลงทุนของบริษัทจีนที่สำคัญนั่นเอง
และเพราะด้วยสปป.ลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล ที่ผ่านมาการทำการค้าทางทะเลของสปป.ลาวต้องผ่านทางไทย เวียดนามหรือกัมพูชา แต่หลังจากมีรถไฟจีน-ลาวนี้และอนาคตเชื่อมต่อไปยังไทยจะเป็นประโยชน์กับสปป.ลาวอย่างมาก สปป.ลาวเองก็เล็งเห็นโอกาสตรงนี้ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะสปป.ลาวเป็นประเทศกำลังพัฒนาหนึ่งที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าด้านภาษีและโควต้าจากประเทศพัฒนาทั่วโลกกว่า 42 ประเทศ นอกจากนี้ภายใต้การร่วมมือ RCEP ที่เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนม.ค. 2022 ที่ผ่านมา ควบรวมกับการเปิดใช้ของรถไฟจีน-ลาว ทั้งหมดทั้งปวงเป็นปัจจัยบวกของสปป.ลาว ที่จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
โดยสรุปการเปิดใช้รถไฟจีน-ลาวที่ผ่านมายังไม่ถึงครึ่งปี มีสัญญาณด้านบวกหลายด้านเกิดขึ้นโดยเฉพาะด้านของเศรษฐกิจและการค้า ในแง่ของการเคลื่อนย้ายเดินทางของประชาชนอาจจะยังต้องรอไปอีกสักระยะแต่หากว่าทั้งสองประเทศเปิดการเดินทางที่เสรีแน่นอนว่าการท่องเที่ยวข้ามประเทศผ่านทางรถไฟจะนำมาเป็นอันดับหนึ่งแน่นอน และหากว่าการเชื่อมต่อรถไฟจีนลาวมาถึงไทยเมื่อไหร่ศักยภาพและการร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศนี้จะมีอีกมากโขเลยทีเดียว