ช่วง 10 กว่าปีมานี้ (4,227 วัน) จีนมีประวัติการบินที่ปลอดภัยที่สุดมาโดยตลอดและถือว่ายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การบินพลเรือนโลก ทว่า สถิตินี้ได้จบสิ้นลงเมื่อเกิดเหตุเครื่องบินตกบนภูเขาสูงชันในมณฑลกว่างซีในบ่ายวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา
โดยเครื่องบิน ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MU5735 ซึ่งมีผู้โดยสารบนเครื่อง 132 คน ออกเดินทางจากคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนานไปยังกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกว่างตง และประสบเหตุเครื่องบินตกบริเวณภูเขาป่าทึบในเมืองอู๋โจว เขตปกครองตัวเองชนชาติจ้วงมณฑลกว่างซี
ที่น่าช็อกยิ่งกว่าก็คือจอภาพแสดงเครื่องบินปักหัวดิ่งพสุธาลงมา
จากข้อมูลของเว็บไซต์ติดตามการบิน FlightRadar24 ระบุ เที่ยวบินออกจากคุนหมิง เวลา 13.11 น. และกำหนดลงจอดในกว่าโจว เวลา 15.05 น.
ข้อมูลโชว์ว่า เมื่อเวลา 14.20 เครื่องบินกำลังบินอยู่ที่ระดับความสูง 8,900 เมตร ในชั่วเวลาราว 2 นาที 15 วินาที ข้อมูลแสดงว่าเครื่องบินร่วงลงมาที่ระดับ 2,800 เมตร 20 วินาทีต่อมา เครื่องบินตกลงมาที่ระดับ 982 เมตร
สื่อจีนอ้างอิงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า จากลักษณะการตกแบบนี้แสดงว่าเครื่องบินได้สูญเสียการควบคุมขณะอยู่กลางอากาศจึงปักหัวดิ่งเหมือนแท่งดินสอตกลงมาแบบนั้น
โดยปกติแล้ว ถ้านักบินอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ เครื่องบินมักจะเดินหน้าจิกหัวลง การที่เครื่องบินตกแบบดิ่งลงเช่นนั้น แสดงว่าเกิดเหตุร้ายแรงถึงแก่ชีวิตขณะอยู่กลางอากาศแล้ว
อุบัติเหตุเครื่องบินตกส่วนใหญ่เกิดในขั้นตอนลงจอด น้อยมากๆ ที่จะเกิดขึ้นในขั้นตอนการบินที่เครื่องบินไต่ระดับจนถึงระดับความสูงที่ใช้ในการเดินทาง (cruise level)
จากข้อมูลสถิติระหว่างปี 2011-2020 ระบุว่า ราว 28 เปอร์เซ็นต์ของอุบัติเหตุเครื่องบินเกิดขึ้นในขั้นตอนสุดท้ายของการบินใกล้เข้าสู่สนามบิน 26 เปอร์เซ็นต์ เกิดขึ้นในขั้นตอนลดระดับบินลงมา (ขั้นตอนลงจอด) มีแค่ 13 เปอร์เซ็นต์ ที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการบินระดับสูงที่ใช้เดินทาง (cruise phase)
โดยทั่วไปเครื่องบินจะขับเคลื่อนอัตโนมัติ (autopilot) ในขั้นตอน cruise phase
จากการตกจากระดับสูงและเกิดระเบิดไฟลุกไหม้ลูกใหญ่ โดยพื้นฐานแล้วไม่มีใครรอด!
มันเกิดอะไรขึ้น? ข้อมูลสภาพอากาศตอนเกิดเหตุแจ้งว่าพื้นที่มีเมฆมาก ทัศนวิสัยดี ขณะที่เขียนบทความนี้ เจ้าหน้าที่ได้พบกล่องดำกล่องแรกแล้ว อีกไม่นานคงได้เบาะแสหรือรู้สาเหตุเครื่องบินตกครั้งนี้
มาย้อนรอยดูอุบัติภัยเครื่องบินตกครั้งสาหัสสากรรจ์ของจีนที่เกิดขึ้นเมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว
Henan Airlines Flight 8387
ในเดือน ส.ค. ปี 2010 เครื่องบินเจ็ท Embraer E-190 ของเหอหนัน แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน 8387 พาผู้โดยสาร 91 คน และลูกเรือ 5 คน ออกเดินทางจากเมืองฮาร์บิน มุ่งสู่เมืองอีชุน มณฑลเฮยหลงเจียง และประสบอุบัติเหตุขณะกำลังลงจอดที่สนามบินหลินตู ห่างจากปลายรันเวย์ 690 เมตร ผู้โดยสารบางคนกระเด็นออกมา ไฟไหม้เครื่องบินระเบิด หน่วยกู้ภัยได้ช่วยผู้โดยสาร 52 คนออกมา และพาส่งโรงพยาบาล อีก 44 คน เสียชีวิต
CAAC Flight 3303
เหตุเครื่องบินตกที่เมืองกุ้ยหลินของมณฑลกว่างซีเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ปี 1982 โดยเครื่องบิน Hawker Siddeley Trident 2E ของ CAAC (Civil Aviation Administration of China) เที่ยวบิน 3303 ขึ้นบินจากสนามบินไป๋อวิ๋นในกว่างโจว ไปยังสนามบินฉีเฟิงหลิงของเมืองกุ้ยหลิน ประสบอุบัติเหตุชนภูเขาซึ่งห่างจากกุ้ยหลิน 45 กิโลเมตร ผู้โดยสารบนเครื่อง 104 คน และลูกเรือ 8 คนบนเครื่อง เสียชีวิตหมด ด้วยแรงระเบิดอย่างแรงตัวเครื่องบินแตกกระจุยเป็นเศษชิ้นส่วนยกเว้นส่วนหาง ศพเละไม่มีดี
สำหรับเหตุเครื่องบินตกครั้งสาหัสนี้ การวิเคราะห์ระบุว่าเครื่องบินอยู่ในช่วงจิกหัวลงลดระดับความสูงโดยไม่ได้รับสัญญาณไฟเขียว อีกทั้งสต๊าฟบนหอควบคุมการจราจรทางอากาศใช้ภาษาไม่มาตรฐานจึงสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ทำให้นักบินลดระดับความสูงลงเรื่อยๆ จนในที่สุดเครื่องพุ่งชนเขา อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์อีกชุดระบุเป็นเพราะระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (autopilot) ของเครื่องบินมีปัญหา
สำหรับเครื่องบินโดยสารพิสัยการบินระยะกลาง Hawker Siddeley Trident 2E ผลิตโดยบริษัทอังกฤษ Hawker Siddeley จัดเป็นเครื่องบินเกรดสูง ผลิตออกมาแค่ 117 ลำ มักใช้เป็นเครื่องบินของรัฐบาล
ณ ‘สุสานจีนโพ้นทะเลอ่างต้าเผิง’ ในเมืองเซินเจิ้น มีหลุมฝังศพหมู่ของเหยื่อเครื่องบินตกชาวอเมริกันและชาวฮ่องกงกว่า 40 ร่าง!
ที่น่าพิศวง ก็คือ ใน 10 ปีต่อมา เกิดเหตุเครื่องบินตกในกุ้ยหลินอีก แม้เหตุการณ์เกิดขึ้นห่างกัน 10 ปี แต่เหตุเครื่องบินตก 2 ครั้งมีความคล้ายกันมากแบบชวนให้ขนลุกเลยทีเดียว โดยจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้กัน เครื่องบินตกตอนกำลังลงจอด เรื่องราวขั้นตอนการเกิดเหตุคล้ายกันมาก
China Southern Airlines Flight 3943
เหตุเครื่องบินตกกรณีของไชน่า เซาท์เทิร์น แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน 3943 เมื่อปี 1992 ที่เมืองกุ้ยหลินมณฑลกว่างซี ที่รู้จักกันอีกชื่อ คือ ‘อุบัติภัยทางอากาศ 11/24’ (วันที่ 24 พ.ย.) ถือเป็นอุบัติภัยทางอากาศครั้งเลวร้ายที่สุดของจีนในตอนนั้นเขย่าวงการบินโลกอย่างแรง เครื่องบินที่ตกเป็นรุ่นโบอิ้ง 737-31B ผู้โดยสารบนเครื่องทั้งหมด 141 คน เสียชีวิต
จากการตรวจสอบอุบัติภัยนี้เกิดจากลูกเรือทำงานผิดพลาด และนักบินเร่งเครื่องจนไปพุ่งชนภูเขา ตัวเครื่องบินแหลกเป็นชิ้นๆ สภาพที่เกิดเหตุเลวร้ายน่าอนาถมาก เจ้าหน้าที่กู้ภัยและค้นหา ไม่พบร่างที่สมบูรณ์เลยสักร่าง!
นอกจากนี้ มีการวิเคราะห์อีกชุดชี้ว่า ความบกพร่องในการออกแบบหางเสือ (rudder) ของเครื่องบินโบอิ้ง 737 มีส่วนทำให้เกิดอุบัติภัยเที่ยวบิน 3943
เหตุเครื่องบินตกที่มาจากความบกพร่องการออกแบบหางเสือ ได้แก่ กรณี United Airlines flight 585, USAir flight 427, Eastwind Airlines Flight 517 และ SilkAir flight 185 ในเหตุเครื่องบินตก 4 กรณีนี้ มีเพียงเครื่องของสายการบินจีน Eastwind Airlines ที่รอดพ้นภัยพิบัติไปได้อย่างหวุดหวิด
ข้อมูลการบินในตอนนั้นระบุความล้มเหลวของเที่ยวบิน 3943 มีความคล้ายมากกับเที่ยวบิน 585 ของยูไนเต็ด แอร์ไลน์ เที่ยวบิน 427 ของยูเอส แอร์เวย์ส และเที่ยวบิน 185 ของซิลค์แอร์
สำหรับเครื่องบินของสายการบิน ไชน่า อีสเทิร์น เที่ยวบิน MU5735 ที่ตก เป็นเครื่องโบอิ้ง 737-800 หลังเกิดเหตุสายการบินไชน่าอีสเทิร์น ได้สั่งระงับการบินของเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737-800 ที่สายการบินมีอยู่ทั้งหมด 109 ลำ
ประวัติศาสตร์การบินของมนุษยชาติได้ก้าวหน้ามาถึง 100 ปี การพัฒนาเทคโนโลยีอันเยี่ยมยุทธของเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ในแต่ละครั้งล้วนมาจากบทเรียนเลือด ซึ่งให้บทเรียนที่นำมาปรับปรุงเทคโนโลยีล้ำหน้าในแต่ละครั้ง
เครื่องบินลำหนึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วนนับแสนๆ ชิ้น โดยแต่ละชิ้นนั้นต้องได้มาตรฐาน มีจุดบกพร่องรูรั่วรอยแตกร้าวเล็กๆ มิได้เด็ดขาด อุบัติภัยหลายครั้งมีต้นเหตุจากจุดบกพร่องของชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ปกติมองข้าม
เมื่อมองตัวเลขที่รายงานออกมาแล้ว เบื้องหลังของทุกๆ ตัวเลขคือ คนที่ยังมีชีวิตอยู่ คือบรรดาครอบครัวที่ประสบชะตากรรมบ้านแตก