อู่ซู่ หรือ วูซู ( wushu) วิชาหมัดมวย หรือกังฟู แขนงหนึ่งของจีน กำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นชาวอินโดนีเซีย ซึ่งนอกจากต้องการฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ประเภทนี้ไว้เพื่อป้องกันตัวแล้ว อู่ซู่ยังเป็นกีฬา ซึ่งบางคนยังมุ่งมั่นฝึกปรือ ด้วยความหวัง ที่จะเข้าแข่งขันในระดับทีมชาติอีกด้วย
โกวิน กิเนบูลานี (Govin Quinebulani) วัยรุ่นหญิง อายุ 14 ปี เป็นผู้หนึ่ง ที่คลั่งไคล้
เธอเล่าว่า ฝึกหัดวิชาอู่ซู่ มาตั้งแต่อายุแค่ 3 ขวบ โดยพ่อของเธอเป็นผู้สอน และได้เข้าแข่งขันคว้าเหรียญมาแล้วหลายสนาม ซึ่งเป้าหมายในอนาคตก็คือการได้ติดทีมชาติ
อู่ซู่ มีท่วงท่าการเคลื่อนไหวสง่างามลึกซึ้ง มองแล้วเพลินตาคล้ายกับกำลังดูการแข่งขันยิมนาสติกประเภทฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ และกลายเป็นที่สนใจระดับโลก เมื่อเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง ที่มีการแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปักกิ่ง2008
อู่ซู่มักร่ายรำด้วยดาบ หรือพลอง แม้แลดูคล้าย ๆ กับการต่อสู้ ที่เราเห็นกันในภาพยนตร์แนวบู๊ทั่วไป แต่ที่ฝึกฝนกันจริง ๆ นั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิง
ศิลปะการต่อสู้จากแดนมังกรแขนงนี้ปังโดนใจวัยรุ่นแดนอิเหนาก็ในตอนการแข่งขันเอเชียนเกมส์กรุงจาการ์ต้าเมื่อปี 2561 หรือ จาการ์ตา ปาเล็มบัง 2018 ซึ่งนักกีฬาหญิงทีมชาติอินโดนีเซียคว้าเหรียญทองเหรียญแรกได้สำเร็จ
ปัจจุบัน อินโดนีเซียมีสโมสรอู่ซู่ อยู่ทั่วประเทศ
"ฉันเริ่มฝึกตอนที่เห็นพ่อกำลังฝึกอู่ซู่ตามลำพัง”
“พ่อดูเจ๋งมาก ฉันเลยไปฝึกด้วย เหวี่ยงแขนเหวี่ยงขาสะเสะปะ แล้วก็เกิดชอบขึ้นมา” โกวินเล่า
พ่อของเธอคือนาย โกกิ เนบูลานา (Gogi Nebulana) ซึ่งคว้าเหรียญทองในการแข่งขันอู่ซู่ชิงแชมป์โลกกรุงปักกิ่งเมื่อปี 2550มาแล้ว
เขาก่อตั้งสโมสรอู่ซู่ฮาร์โมนี (Harmony Wushu Club) อยู่ในเมืองโบกอร์ ใกล้ ๆ กับกรุงจาการ์ต้า มีสมาชิกราว 300 คน แต่พอโควิด-19 ระบาด ก็เหลืออยู่แค่ 120 คน
น้องสาว วัย 9 ขวบของโกวิน ก็ฝึกฝนด้วย โดยทั้งคู่ยังมีโอกาสเดินทางไปฝึกเคล็ดวิชาขั้นสูงที่กรุงปักกิ่งนาน 2 เดือนเมื่อปี 2562
นายโกกิเองนั้นมีบรรพบุรุษเป็นชาวจีน แต่เขาพูดภาษาจีนไม่ได้ โดยเขาเริ่มฝึกอู่ซู่เมื่ออายุเพียง 5 ขวบ และเริ่มเป็นครูสอนคนอื่น ตอนอายุ 17 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อ 8 ปีก่อน เขาเคยไปอยู่ที่นครเซียงไฮ้นาน 2 เดือน จึงเข้าใจวัฒนธรรมจีนและได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับคนที่รักศิลปะการต่อสู้อู่ซู่หลายคน นับเป็นประสบการณ์ อันมีค่ามาก
นายโกกิมุ่งมั่น ที่จะพัฒนาสโมสรของตนเองให้เติบใหญ่เหมือนในจีน โดยหวังว่า จะมีผู้มาสมัครเรียนมากถึง 500 คน ซึ่งเขาจะคัดเลือกนักเรียน ที่เก่ง ๆ ไปฝึกฝนเพิ่มเติมที่แดนมังกร เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมของจีน ซึ่งเขาเชื่อว่า การเข้าใจวัฒนธรรมจีนอย่างถ่องแท้ จะทำให้นักกีฬาเข้าใจศิลปะการต่อสู้อู่ซู่ได้อย่างลึกซึ้ง
จาก “Young Indonesians dream of ‘wushu’ glory” – โกลบอลไทมส์