เมื่อไม่นานมานี้ มีการค้นพบ “ตลาดนัดโบราณ” สุดคึกคักที่เคยเต็มไปด้วยแผงค้าขายและเหล่าพ่อค้าหาบเร่ ที่เมืองเติ้งโจว มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน ซึ่งมีลักษณะรูปแบบเดียวกับที่ปรากฎในผลงานภาพวาดริมแม่น้ำยามเทศกาลชิงหมิงหรือ “ชิงหมิงริมนที” (清明上河图) อันโด่งดัง ผลงานชิ้นเอกของจางเจ๋อตวน จิตรกรสมัยราชวงศ์ซ่ง (ปี 960-1279)
คณะนักโบราณคดีพบโครงสร้างการก่อสร้างพิเศษในซากอาคารบางส่วนบริเวณตลาดนัดโบราณเติ้งโจว ซึ่งออกแบบขึ้นเพื่อรองรับฐานของบ้านเหนือท่อระบายน้ำ อีกทั้งขุดพบเหรียญทองแดงและเครื่องโลหะจำนวนมากใกล้กับท่อ โดยหลักฐานทั้งหมดบ่งชี้ว่าเจ้าของบ้านเคยเปิดร้านค้าอยู่ริมถนนมาก่อน
ท่อระบายน้ำถือเป็นทรัพย์สินส่วนกลางของเมืองในสมัยจีนโบราณ และหลายราชวงศ์ได้กำหนดให้พื้นที่อยู่อาศัยแยกออกจากตลาดอย่างเข้มงวด โดยประชาชนไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดร้านค้าในเขตที่อยู่อาศัย
เปาเหว่ยเคอ นักวิจัยประจำสถาบันมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีเหอหนาน ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการขุดค้นข้างต้น กล่าวว่าบรรดาร้านรวงในตลาดนัดแห่งนี้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะกันอย่างเต็มที่ และมีอาณาเขตอยู่บนพื้นที่บางส่วนของถนน ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินกิจการที่พบได้ทั่วไปในราชวงศ์ซ่ง
ซุนอิงหมิน ประธานสมาคมมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีของเหอหนาน ระบุว่าการค้นพบใหม่ในเติ้งโจวถือเป็นหลักฐานทางกายภาพที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในสมัยจีนโบราณ จากที่เคยมุ่งเน้นการเกษตรและกีดกันการค้า มาสู่การส่งเสริมให้พัฒนาเศรษฐกิจสินค้าโภคภัณฑ์
ก่อนหน้านี้เมืองหลวงโบราณสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (ปี 960-1127) ถูกทับถมด้วยตะกอนจากแม่น้ำเหลือง ทำให้ยากต่อการขุดค้นซากและวัตถุโบราณ การค้นพบครั้งใหม่นี้จึงช่วยเติมเต็มช่องว่างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
เติ้งโจวเคยเป็นเมืองชายแดนและที่ตั้งของตลาดย่านชายแดนสมัยราชวงศ์ซ่ง ด้านซุนซินหมิน หัวหน้าสมาคมเครื่องเคลือบโบราณของจีน ระบุว่าการขุดพบเครื่องเคลือบชั้นดีจำนวนมากในตลาดแห่งนี้ บ่งชี้ว่าที่นี่อาจเป็นตลาดที่มีการค้าขายเครื่องเคลือบจากเตาเผาเติ้ง (Deng kiln) อันโด่งดังสมัยราชวงศ์ซ่ง
ปัจจุบันคณะนักโบราณคดีขุดค้นตลาดนัดโบราณดังกล่าวแล้วกว่า 1,200 ตารางเมตร และอยู่ระหว่างการขุดค้นพื้นที่ส่วนอื่นเพิ่มเติมเพื่อไขปริศนาที่ยังรอคอยการค้นพบ
ข่าว/คลิปโดยสำนักข่าวซินหัว