สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการจีน รายงาน (13 มี.ค.) — คณะนักไวรัสวิทยาจีนรายงานการค้นพบแอนติบอดีของมนุษย์แบบสูดดม ซึ่งสามารถจับเป้าหมายเชื้อโควิด-19
รายงานระบุว่า แอนติบอดีป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ถูกจำกัดประสิทธิภาพด้วยเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง และการกระจายตัวของแอนติบอดีสู่บริเวณที่ติดเชื้อในทางเดินหายใจที่ถูกจำกัดวง
ผลการศึกษาในวารสารเซลล์ (Cell) เมื่อวันพฤหัสบดี (10 มี.ค.) ระบุว่าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นพบตัวรับ-ตัวยึดเกาะของเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งหมายความว่าส่วนเหล่านั้นต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอันนำไปสู่การหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน
คณะนักวิจัยได้สร้างแอนติบอดีโดเมนเดียว (single-domain) ที่มีความจำเพาะแบบคู่ ซึ่งสามารถผูกมัดทั้งสองตำแหน่งดังกล่าวในเวลาเดียวกันและเสริมฤทธิ์กัน
รายงานระบุว่า แอนติบอดีดังกล่าวมีลักษณะเป็นหยดของเหลวขนาดไม่ถึง 5 ไมโครเมตร สามารถลำเลียงสู่ปอดอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการสูดดม มีประสิทธิภาพการรักษาในหนูทดลองที่ติดเชื้อไวรัสฯ โดยหนูทดลองที่ป่วยโรคโควิด-19 อาการรุนแรง และมีระดับเชื้อไวรัสฯ ในปอดสูง สูดดมแอนติบอดีบีเอ็น03 (bn03) เข้าสู่ร่างกายแล้ว พบว่าเชื้อไวรัสฯ มีชีวิตในปอดเกือบทั้งหมดได้ถูกกำจัด และยังรักษาอาการบาดเจ็บของปอดดีขึ้น
ทั้งนี้ เทคนิคการผลิตแอนติบอดีข้างต้นอยู่ระหว่างการพัฒนา และคาดว่าจะมีการทดลองทางคลินิกในขั้นตอนถัดไป