xs
xsm
sm
md
lg

จับตาฐานทัพเรือดำน้ำนิวเคลียร์ หมีโคอาล่ารับงาน“พี่กัน”เขย่าบัลลังก์มังกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสันแห่งออสเตรเลีย  – ภาพ:ซินหวา
ผู้เชี่ยวชาญทางทหารของจีนเตือนรัฐบาลปักกิ่งอย่าประมาท จุดประสงค์ที่แท้จริงของอภิมหาโปรเจกต์ฐานทัพเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลีย อาจสร้างไว้รอเรือพี่กัน

จากกรณีออสเตรเลียออกมาแถลง เกี่ยวกับโครงการสร้างฐานทัพเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ ซึ่งจะเป็นโครงการสร้างฐานทัพด้วยงบประมาณมหาศาลครั้งแรกในรอบ 30 ปี ของแดนหมีโคอาล่าเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 นั้น


ผู้เชี่ยวชาญทางทหารในกรุงปักกิ่ง ซึ่งขอไม่เปิดผยนาม มองว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากว่า ฐานทัพเรือแห่งใหม่นี้จะถูกประเดิมการใช้งาน โดยกองเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา มิใช่กองเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ของออสเตรเลียเอง ซึ่งจะเริ่มสร้างเป็นลำแรก ภายใต้สนธิสัญญาออกัส (AUKUS ) เพราะเมื่อดูตามรายงานข่าว เรือของออสเตรเลียกว่าจะสร้างเสร็จและปล่อยลงน้ำได้ก็ในปี 2581 หรืออีก 16 ปีข้างหน้าโน่น

เขาเตือนว่า ฐานทัพเรือแห่งใหม่นี้อาจเป็นภัยคุกคามต่อจีนได้ จีนจึงควรเพิ่มการเฝ้าระวังและเร่งเสริมสร้างเขี้ยวเล็บป้องกันทางทะเลให้แหลมคมยิ่งขึ้น

ตามรายงานของสื่อออสซี่นั้น นายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน ระบุว่า ฐานทัพเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์จะสร้างขึ้นบนชายฝั่งตะวันออกของประเทศ


“ฐานทัพเรือแห่งนี้ยังจะทำให้เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ของสหรัฐฯและอังกฤษเดินทางมาเยือนได้เป็นประจำอีกด้วย” นายมอร์ริสันแถลง

เขาระบุว่า อาจต้องใช้งบประมาณกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 241,800 ล้านบาท) ในการสร้างฐานทัพ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกและการบำรุงรักษา สำหรับกองเรือดำน้ำ ที่เปลี่ยนจากเรือดำน้ำชั้นคอลลินส์ ซึ่งเป็นแบบธรรมดา มาเป็นเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์

นายกรัฐมนตรีแดนหมีโคอาล่า ยังอ้างถึงผลกระทบของวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครนว่า จะขยายมาถึงภูมิภาคอินโด-แปซิฟก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรืออู่ลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบก “อู่จื่อซาน” , “คุนหลุนซาน” และ “ฉางไป๋ซาน” ร่วมการซ้อมรบทางทะเลเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563  โดยเรือทั้งสามสังกัดกองเรือยกพลขึ้นบกของกองทัพเรือ ภายใต้กองบัญชาการร่วม 3 เหล่าทัพในบริเวณภาคใต้ของจีน ซึ่งรวมถึงทะเลจีนใต้ – ภาพ: eng.chinamil.com.cn
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางทหารอีกคนคือนาย จาง จวินเซ่อ นักวิจัยอาวุโสประจำสถาบันวิจัยกองทัพเรือ ซึ่งอยู่ในสังกัดของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน มีความเห็นว่า ผลกระทบ ที่นายมอร์ริสันพูดถึงนี้ เป็นเพียงข้อแก้ตัว เพื่อพยายามปกป้องแผนการป้องกันประเทศเชิงรุกของออสเตรเลียก็เท่านั้นเอง

เขาชี้ว่า แท้ที่จริงแล้ว แผนการสร้างฐานทัพเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ ดำเนินไปด้วยจุดประสงค์เดียวกันกับที่ออสเตรเลียเข้าร่วมสนธิสัญญาออกัส ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านความมั่นคงฉบับใหม่ระหว่างสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย เนื่องจากออสเตรเลียมีความมุ่งมั่นในการร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อทำให้สหรัฐฯ เป็นเจ้าโลก และแทรกแซงกิจการต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งร่วมมือกันในแผนยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก” เพื่อล้อมกรอบจีน

นายจางยังระบุว่า ข้อตกลงการสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ภายใต้สนธิสัญญาออกัส ถูกชาติเพื่อนบ้านของออสเตรเลีย และนักรณรงค์การปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกรุมจวกยับ โดยหลายชาติ เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แสดงความวิตกว่า สนธิสัญญาฉบับนี้อาจเป็นชนวนเหตุให้เกิดการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์และบ่อนทำลายสันติภาพในภูมิภาคได้


ด้านผู้เชี่ยวชาญทางทหารในปักกิ่ง ซึ่งไม่เปิดเผยนามคนดังกล่าว ยังเตือนด้วยว่า เมื่อฐานทัพเรือแห่งนี้สร้างเสร็จ ก็จะมีการเคลื่อนกำลังเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์กันอย่างคึกคัก ทั้งของพี่กัน, เรือเมืองผู้ดี และของออสซี่ เรียกได้ว่า ภัยคุกคามขยับแทบจะจ่อคอหอยพญามังกร

“บางที ในกรอบการทำงานของออกัสทั้งหมด กองเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ของออสเตรเลียอาจมีบทบาทความสำคัญน้อยกว่าตัวของฐานทัพเรือ เพราะการมีฐานทัพเรือจะทำให้กองเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ มีตำแหน่งที่มั่นคงใกล้กับจีนมากขึ้น และเสี่ยงถูกโจมตีน้อยลงนั่นเอง” นักวิเคราะห์นิรนามผู้นี้ทิ้งท้าย


เรียบเรียงจาก “China should be on alert over Australia’s future nuclear-submarine base: experts” ใน
โกลบอลไทมส์


กำลังโหลดความคิดเห็น