xs
xsm
sm
md
lg

จีนก้าวหน้าในการใช้พลังงานสะอาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฟ้มภาพซินหัว : พนักงานตรวจสอบโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในแคว้นปกครองตนเองไห่หนาน กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต มณฑลชิงไห่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 8 ก.พ. 2022
เทียนจิน, 9 มี.ค. (ซินหัว) - อาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์ (Zero Energy Building) ตัวแทนสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในเทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีน สามารถจ่ายความร้อนและไฟฟ้าสำหรับใช้งานภายในอาคารโดยพึ่งพาพลังงานจากแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว

"ไม่ว่าอากาศจะหนาวเย็นเท่าใด อาคารทั้งหลังก็ยังสามารถรักษาอุณหภูมิและความชื้นให้คงที่ได้เสมอ" เหอรุ่ย พนักงานบริษัทการไฟฟ้าแห่งประเทศจีน สาขาเขตใหม่ปินไห่ของเทียนจิน หนึ่งในทีมผู้พัฒนาอาคารกล่าว

เหอระบุว่าพวกเขาติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์จำนวน 60 แผง รวม 20 กิโลวัตต์ โดยพิจารณาจากโครงสร้างหลังคา มุมองศาของแสง และสภาพแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้า 60 กิโลวัตต์-ชั่วโมงทุกวันหากมีแสงแดดพอเหมาะ

ตัวอาคารสีขาว ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 130 ตารางเมตรแห่งนี้ มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากกว่าหรือเทียบเท่ากับปริมาณการใช้พลังงานของอาคาร จึงบรรลุ "การใช้พลังงานเป็นศูนย์" โดยไม่ต้องป้อนพลังงานจากภายนอกเพิ่มเติม นับเป็นอีกก้าวเล็กๆ สู่เป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงจุดสูงสุดก่อนปี 2030 และบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2060 ของจีน

แฟ้มภาพซินหัว : โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในทะเลทรายคู่ปู้ฉี เขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน วันที่ 14 ก.ย. 2020
จีนเปิดตัวตลาดการค้าคาร์บอนแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ปีก่อน ซึ่งเป็นตลาดคาร์บอนใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ปริมาณก๊าซเรือนกระจก นับเป็นความคืบหน้าสำคัญในกระบวนการลดรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) และบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

เซี่ยงไฮ้ เอ็นไวรอนเมนต์ แอนด์ เอ็นเนอร์จี เอ็กซ์เชนจ์ (Shanghai Environment and Energy Exchange) ระบุว่าตลาดดังกล่าวเปิดดำเนินการ 114 วัน ในปี 2021 โดยมีปริมาณการซื้อขายคาร์บอน 179 ล้านตัน และมีมูลค่าการซื้อขายเกือบ 7.7 พันล้านหยวน (ราว 4 หมื่นล้านบาท)

ด้านเมืองเอ้อเอ่อร์ตัวซือ ของเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน เริ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในทะเลทรายคู่ปู้ฉี (Kubuqi Desert) ซึ่งเป็นทะเลทรายขนาดใหญ่อันดับ 7 ของประเทศ เมื่อเดือนตุลาคม 2021 โดยคาดว่าจะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 6,700 เฮกตาร์ (ราว 41,000 ไร่) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 2 กิกะวัตต์ และบรรลุการเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าเต็มรูปแบบก่อนสิ้นปี 2023

โครงการดังกล่าวจะจ่ายไฟฟ้าเฉลี่ยมากกว่า 4.1 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ช่วยประหยัดถ่านหินมาตรฐานกว่า 1.25 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 3.4 ล้านตัน และลดการปล่อยมลพิษเทียบเท่าการปลูกป่า 180,000 เฮกตาร์ (ราว 1.12 ล้านไร่) ในมองโกเลียใน เมื่อเทียบกับพลังงานความร้อนแบบดั้งเดิม

แฟ้มภาพซินหัว : โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอำเภอหย่งเหริน มณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 16 ก.พ. 2022
เมืองเอ้อเอ่อร์ตัวซืออยู่ระหว่างการเดินหน้าก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมปลอดคาร์บอน ซึ่งนิคมแห่งนี้จะครอบคลุมการผลิตอุปกรณ์พัดลม การผลิตแบตเตอรี่ และห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน และคาดว่าจะส่งออกผลิตภัณฑ์รวม 1 แสนล้านหยวน (ราว 5.19 แสนล้านบาท) หลังจากเริ่มเปิดดำเนินการในปีนี้

จางเหลย ซีอีโอของเอ็นวิชัน กรุ๊ป (Envision Group) ผู้พัฒนานิคมดังกล่าว เผยว่าร้อยละ 80 ของพลังงานในนิคมแห่งนี้มาจากพลังงานลม แสงอาทิตย์ และการจัดเก็บพลังงานโดยตรง ส่วนอีกร้อยละ 20 มาจากรูปแบบความร่วมมือการขายพลังงานส่วนเกินให้โครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งจะมีการดึงพลังงานสีเขียวที่กักเก็บไว้ออกมาใช้เมื่อจำเป็น

จางทิ้งท้ายว่า "วิธีการนี้ทำให้เราสามารถจัดหาพลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ในอัตราร้อยละ 100 รวมถึงรับรองว่าไฟฟ้าที่ผลิตนั้นมีความปลอดภัยและมีต้นทุนต่ำ"


กำลังโหลดความคิดเห็น