เมื่อไม่นานมานี้ คณะนักบรรพชีวินวิทยาจีนและสหราชอาณาจักร ค้นพบไดโนเสาร์สเตโกซอรัส (Stegosaurus) “กิ้งก่ามีหลังคา”สายพันธุ์ใหม่จากจีน ซึ่งถือว่า เป็นสเตโกซอรัสที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบในเอเชีย และเป็นหนึ่งในสเตโกซอรัสที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเจอร์นัล ออฟ เวอร์ทีเบรต พาเลนโทโลจี (JVP) ในวันศุกร์ (4 มี.ค.) มีการบรรยายถึงลักษณะของซากไดโนเสาร์ชนิดดังกล่าว ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีหนามปกคลุมและกินพืชเป็นอาหาร ว่า ประกอบด้วยชิ้นส่วนกระดูกจากหลัง ไหล่ ต้นขา เท้า ซี่โครง และแผ่นหนามหลายชิ้น
คณะนักวิทยาศาสตร์กำหนดช่วงอายุของซากดังกล่าว อยู่ในระยะบาโจเชียน (Bajocian) ของยุคจูราสสิกตอนกลาง (Middle Jurassic) ซึ่งเก่าแก่กว่าสเตโกซอรัสส่วนใหญ่ที่รู้จักกันก่อนหน้านี้ หมายความว่า สเตโกซอรัสที่พบตัวนี้ เคยมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อราว 168 ล้านปีก่อน โดย ซากที่พบบ่งชี้ถึงไดโนเสาร์ 4 ขาที่มีรูปร่างค่อนข้างเล็ก แต่มีลักษณะอันน่าเกรงขาม และเมื่อวัดจากจมูกถึงหาง มีความยาวราว 2.8 เมตร แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ในช่วงโตเต็มวัยหรือวัยเด็ก
ผลการศึกษายังพบอีกว่า ไดโนเสาร์ตัวดังกล่าว มีกระดูกสะบักเล็กและยังพัฒนาไม่เต็มที่ ส่วนแผ่นหนามมีเปลือกหุ้มที่แคบกว่าและหนากว่า ซึ่งต่างจากสเตโกซอรัส ยุคจูราสสิกตอนกลางตัวอื่นทั้งหมด ที่เคยพบจวบจนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สเตโกซอรัสตัวนี้ มีความคล้ายคลึงกับไดโนเสาร์มีหนามยุคแรกบางตัว ที่มีอายุเก่ากว่านี้อีก 20 ล้านปี
ด้านผู้นำการวิจัยจากสำนักสำรวจและพัฒนาทางธรณีวิทยาและทรัพยากรแร่ฉงชิ่ง ไต้ฮุย ระบุว่า ลักษณะทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเบาะแสสำคัญ สำหรับการจัดลำดับไดโนเสาร์สเตโกซอรัสในแผนผังตระกูลไดโนเสาร์
อนึ่ง คณะนักวิจัยตั้งชื่อไดโนเสาร์ตัวดังกล่าวว่า บาชาโนซอรัส พริมิทิวัส (Bashanosaurus primitivus) ตาม “ปาซาน” ชื่อในอดีตของสถานที่ที่มีการค้นพบไดโนเสาร์ตัวดังกล่าว ในเทศบาลนครฉงชิ่งของจีน ส่วน “พริมิทิวัส” เป็นภาษาละตินแปลว่า “ลำดับแรก”
ภาพ/ข่าว โดยสำนักข่าวซินหัว, 4 มี.ค. 2022