สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการจีนรายงาน (26 ก.พ.) — คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยสัตวแพทย์ฮาร์บิน สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรจีน (CAAS) พบว่าดิลไทอะเซม (diltiazem) ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงที่ใช้กันทั่วไป มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อโควิด-19 ในเซลล์และปอดของหนู
รายงานระบุว่า ดิลไทอะเซม ซึ่งเป็นยาลดความดันในกลุ่มปิดกั้นแคลเซียม (Calcium channel blockers) ถูกใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยมีคุณสมบัติผ่อนคลายกล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือด ตัวยานี้ผ่านการอนุมัติในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1982 และมีการใช้งานทั่วไปทางคลินิกสำหรับหลายข้อบ่งชี้ อาทิ โรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่ายาดิลไทอะเซมมักมุ่งเป้าไปที่ซีเอวี1.2 อัลฟา1ซี (Cav1.2 α1c) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ถูกกำหนดรหัสพันธุกรรมโดยช่องโปรตีนที่ควบคุมด้วยศักย์ไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ส่วนการศึกษาชิ้นนี้พบว่าโปรตีนดังกล่าวมีปฏิสัมพันธ์กับโปรตีนหนามของเชื้อไวรัสฯ และตัวรับเอซีอี2 (ACE2) ในเซลล์มนุษย์ ซึ่งมีบทบาทหลายด้านในการควบคุมความดันโลหิต ปริมาณเลือด และการอักเสบ
นักวิจัยพบว่าการให้ยาดิลไทอะเซม ปริมาณ 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เข้าทางชั้นกล้ามเนื้อหนู ไม่ว่าจะก่อนได้รับเชื้อไวรัสฯ 1 ชั่วโมงหรือหลัง 6 ชั่วโมง สามารถลดการติดเชื้อในหนูลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนการให้ยาดิลไทอะเซม ปริมาณ 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เข้าทางช่องจมูกหนูก่อนได้รับเชื้อไวรัสฯ 1 ชั่วโมง ช่วยลดการติดเชื้อในหนูลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ซึ่งสนับสนุนเพิ่มเติมว่ายารักษาโรคความดันโลหิตสูงตัวนี้มีแนวโน้มป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19
ผลการวิจัยบ่งชี้ว่ายาดิลไทอะเซมอาจเป็นตัวเลือกในการรักษาโรคโควิด-19 ขณะซีเอวี1.2 อัลฟา1ซี อาจมีศักยภาพสำหรับนำไปพัฒนายาต้านเชื้อไวรัสฯ ต่อไป