xs
xsm
sm
md
lg

ศึกกิมจิสู่ศึกชุดฮันบก ประเด็นดราม่าปักกิ่งเกมส์2022

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่มชาติพันธุ์ในจีนร่วมเชิญธงชาติในพิธีเปิดมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่ง 2022 เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565
สถานทูตจีนไขข้อข้องใจ เหตุใดชุดฮันบกของเกาหลีจึงไปโผล่บนเวทีพิธีเปิดมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่ง 2022


ภาพสตรีสวมชุดกระโปรงบานสีชมพู ยืนหันหลังเห็นผมถักเปียยาว กำลังจับผืนธงชาติจีน ร่วมกับผู้สวมชุดแต่งกายของชนเผ่าพื้นเมืองอื่น ๆ ในพิธีเปิดการแข่งขัน ทำให้จีนตกเป็นจำเลยของชาวเกาหลีใต้ ที่ก่นประณามว่า ฉกเอาวัฒนธรรมคนอื่นไปอย่างหน้าตาเฉย เพราะดูยังไงๆ นั่นก็คือชุดฮันบก ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติเกาหลีชัด ๆ

ก่อนเรื่องราวจะไปกันใหญ่ ลองมาฟังคำชี้แจงของสถานทูตจีนประจำเกาหลีใต้สักหน่อยปะไร

ในแถลงการณ์ของสถานทูตจีนระบุว่า คนเชื้อสายเกาหลี ที่อาศัยในจีน และบนคาบสมุทรเกาหลี มีต้นกำเนิด และวัฒนธรรมดั้งเดิมร่วมกัน ซึ่งก็รวมถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย วัฒนธรรมดั้งเดิมเหล่านี้ เป็นของทั้งคาบสมุทรเกาหลีและของคนเชื้อสายเกาหลีในจีน ข้ออ้างที่ว่า เป็นการฉกฉวยวัฒนธรรม จึงฟังไม่ขึ้น

“ จีนเคารพประเพณีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ จึงหวังด้วยเช่นกันว่า เกาหลีใต้จะเคารพความรู้สึกของชาวจีนทุกเชื้อชาติ รวมทั้งเชื้อชาติเกาหลี”


ชาวเกาหลีใต้ระบายความโกรธแค้นในสื่อสังคมออนไลน์ว่า จีนไม่ลดละความพยายาม ในการขโมยส่วนที่สำคัญของวัฒนธรรมเกาหลีไป อย่างเช่น “กิมจิ” ซึ่งเป็นเครื่องเคียงทำจากกะหล่ำปลีดอง รสชาติเผ็ดร้อน และถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเกาหลี

ผู้คนสวมชุดตามประเพณีเกาหลี รวมทั้งชุดฮันบก ระหว่างเที่ยวชมพระราชวังเคียงบก ในกรุงโซลของเกาหลีใต้เมื่อปี 2561 – ภาพเอพี
นักการเมืองในเกาหลีใต้โดดร่วมวงทันที

นาย ลี แจ-เมียง ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี จากพรรครัฐบาล ออกตัวแรง

โดยหลังจากพิธีเปิดการแข่งขันเสร็จสิ้นไม่กี่ชั่วโมง ได้แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กว่า จีน “ไม่ควรละโมบวัฒนธรรม (ของคนอื่น)”

ด้านนาย อัน โชล-โซ คู่แข่งจากพรรคฝ่ายค้าน ก็แรงพอกัน

เขาระบุในเฟซบุ๊กว่า “ ถึงทางการจีน ผมขอบอกว่า มันคือชุดฮันบกครับ ไม่ใช่ฮั่นฝู


ฮั่นฝูเป็นเสื้อผ้าของชาวฮั่น ซึ่งสวมใส่ในสมัยโบราณ


นาย คริสโตเฟอร์ เดล คอร์โซ อุปทูตชั่วคราวประจำสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงโซล โพสต์รูปถ่ายของตัวเองสวมชุดฮันบก ในทวิตเตอร์ พร้อมข้อความว่า “ ถ้านึกถึงเกาหลี คุณจะนึกถึงอะไร คิมจิ, เค-ป๊อป, เค-ดรามา และแน่นอนคือ ฮันบก


จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2563 มีกลุ่มชาติพันธุ์เกาหลีในจีนราว 1 ล้าน 7 แสนคน ส่วนใหญ่อาศัยใกล้พรมแดนติดกับเกาหลีเหนือ และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในทั้งหมด 56 กลุ่มตามที่จีนระบุอย่างเป็นทางการ


“ ไม่มีใครเถียงหรอก ถ้าคุณบอกว่า ฮันบกเป็นชุดตามประเพณีของเกาหลี แต่คุณจะมาบอกว่า ชุดแต่งกายตามประเพณีของชนชาติพันธุ์เกาหลีในจีน คือชุดฮันบก ก็ไม่ได้เหมือนกัน” ชาวเน็ตผู้หนึ่งแสดงความเห็นในเว่ยปั๋ว


ส่วนผู้ร่วมแสดงความเห็นอีกคนบอกว่า มีคนเชื้อสายเกาหลีในจีน 1 ล้าน 7 แสนคนและการที่พวกเขาสวมเครื่องแต่งกายตามประเพณีก็เป็นเรื่อง ที่ดีมิใช่หรือ และจะมาตำหนิติเตียนทำไม่

ชุดฮันบกกำลังเป็นประเด็นโต้เถียง ระหว่างชาติเพื่อนบ้านทั้งสอง หลังจากเคยเกิดการโต้เถียงร้อนแรงเมื่อปีที่แล้ว ในเรื่อง “กิมจิ” เมื่อองค์การมาตรฐานสากล ( ISO) ได้มอบใบรับรองมาตรฐานสากลให้กับ “กิมจิ” ของมณฑลเสฉวน หรือที่มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ เปาฉ่าย” และประชาชนในเกาหลีใต้กล่าวหาว่า เป็นวัฒนธรรมอาหาร ที่จีนขโมยไปอย่างไม่ต้องสงสัย

ข้อมูลจาก “Is hanbok this year’s kimchi? China denies cultural appropriation over Korean dress at Olympics” ใน SCMP.COM


กำลังโหลดความคิดเห็น