xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights: เรื่องของคนจีนกับการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชายจีนกำลังนั่งเลือกบะหมี่สำเร็จรูปที่วางอยู่มากมายในซุปเปอร์มาร์เก็ต (ภาพจาก Shanghai Observer)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล


ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะมาเล่าเรื่องตามกระแสกันหน่อย เป็นประเด็นใกล้ตัวที่ก็น่าสนใจ จากประเด็นของค่าครองชีพพุ่งขึ้นสูงในเมืองไทยทำให้หลายคนให้ความสนใจกับราคาของมาม่าหรือบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อเก่าแก่หนึ่งของไทยว่าจะมีการปรับขึ้นราคาตามราคาสินค้าอาหารอื่นๆหรือไม่ ดังนั้นคงไม่มีใครปฎิเสธว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคือสิ่งที่สำคัญในการประทังชีวิตหนึ่งของคนไทยและก็ไม่ใช่แค่กับคนไทยเท่านั้น หลายประเทศทั่วโลกมีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันอย่างมากมายหลากหลาย และก็ไม่เสมอไปว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคือขวัญใจของผู้ที่รายได้ต่ำเท่านั้น แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นขวัญใจของคนทั่วไปเพราะเป็นของกินอิ่มท้องที่สะดวก รวดเร็ว อร่อยและราคาประหยัด กินคู่กับอะไรก็อร่อยได้หลากหลาย ใครทำก็อร่อย

กลับมาที่เรื่องของคนจีนกับการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จีนเป็นประเทศที่คนเยอะตลาดบริโภคใหญ่ จากรายงานสถิติปี 2020 ของประเทศที่บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด จีนครองอันดับหนึ่งของโลก โดยในปี 2020 จีนมีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปทั้งสิ้น 4.63 แสนล้านห่อ หรือคิดเป็น 40% ของการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งโลก เฉลี่ยแล้วคนจีนบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประมาณ 29-30 ห่อต่อคนต่อปี สำหรับปริมาณการบริโภคต่อหัวจีนครองแท่นอันดับสามของโลกโดยยังตามหลังอันดับหนึ่งคือประเทศเกาหลีใต้ที่มีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 72.2 ห่อ และสำหรับจีนเองมีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้นหลังจากการระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา โดยเฉพาะช่วงตรุษจีนของปี 2020 การพิมพ์คำค้นหาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “方便面” อ่านว่า ฟางเปี้ยนเมี้ยน ในเว็บเถาเป่าเพิ่มมากขึ้นกว่า 200 เท่าในขณะที่เว็บ JD.com มียอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วงตรุษจีนปี 2020 มากถึง 15 ล้านห่อ

หากจะกล่าวถึงประวัติของการพัฒนาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีนก็มีมาช้านานพอควร เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1970 ที่จีนเริ่มมีการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอุตสาหกรรม โดยในช่วง 1970-2000 สามสิบปีแห่งการพัฒนาของอุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างก้าวกระโดด โดยกำลังการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของจีนในปี 1970 มีเพียง 2 ล้านห่อ กำลังการผลิตในประเทศกระโดดขึ้นไปเป็น 1.78 แสนล้านห่อในปี 2020 โดยระยะการพัฒนาการผลิตและตลาดของบะหมี่สำเร็จรูปในประเทศจีนแบ่งได้เป็นช่วงๆต่อไปนี้

-ช่วงของการค้นหา ในปี 1970 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ค่อนข้างสมบูรณ์ถุงแรกของจีนถือกำเนิดขึ้นที่โรงงาน Shanghai Yimin No. 4 ซึ่งใช้กระบวนการทอดเส้นก๋วยเตี๋ยวนึ่งแรงดันสูงและใช้อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นเองเพื่อผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 ล้านชุด (2 ล้านถุง) ต่อปี ถือเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของจีนอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี 1978-1980 สถาบันอุตสาหกรรมอาหารแห่งปักกิ่งและโรงงานอาหารสำเร็จรูปปักกิ่งร่วมกันทำการวิจัยสายการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขนาด 1 ตันแบบไม่ทอด โดยใช้เทคโนโลยีการทำอาหารแรงดันสูงแบบต่อเนื่องและเทคโนโลยีการอบแห้งด้วยแสงอินฟราเรด

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์จีนในยุค 1980 ที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย (ภาพจาก Xiawu.com)
- ช่วงของการตั้งไข่ หลังจากเข้าสู่ทศวรรษ 1980 มีการนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตจากญี่ปุ่น ขณะที่ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีนเริ่มมีมากกว่า 40 โรงงานกระจายตัวในเมืองกว่างโจว เซี่ยงไฮ้ อู๋ซี เจิ้งโจว เป็นต้น โดยในปี 1986 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเริ่มจะเข้าสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ ผู้คนเริ่มรู้จัก แต่น้อยคนนักที่จะมีกำลังซื้อกินเพราะสำหรับรายได้ของคนจีนในขณะนั้น การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังถือว่าหรูหราและฟุ่มเฟือยในขณะนั้นมีการจำกัดราคาขายบะหมี่สำเร็จรูปในประเทศ โดยปริมาณ 100 กรัม/ถุง ราคาขายปลีกในตลาดคือ 0.25 หยวน/ถุง และต้องมีแสตมป์แลกอาหาร 2 ใบในการซื้อด้วย ในช่วงปี 1980 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของ Shanghai Guanshengyuan ได้กลายเป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบธรรมดาบรรจุในถุงพลาสติกซึ่งเป็นความทรงจำของคนรุ่นเก่าๆในขณะนั้น

- ช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ในปี 1988 รัฐบาลจีนได้ตั้งมาตรฐานปลอดภัยด้านอาหารของบะหมี่สำเร็จรูป กอปรกับระบบการคลังอาหารของประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงไปอิสระมากขึ้น ไม่ใช่ระบบโควต้าแบบในอดีต น้ำมันพืชและแป้งวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อิสระมากขึ้น โรงงานผลิตอาหารของรัฐบาลไม่ใช่แค่ผู้ผลิตรายเดียวอีกต่อไป แต่มีการเปิดให้เอกชนและเริ่มมีการลงทุนจากภายนอกเข้ามา เช่น แบรนด์อันดับหนึ่งของจีนในปัจจุบันยี่ห้อ 康师傅 อ่านว่าคังชือฟู่ ลงทุนโดยนักลงทุนไต้หวันตั้งโรงงานผลิตแห่งแรกในเมืองเทียนจิน คนจีนเริ่มรู้จักและบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันมากขึ้น จากรายได้ของผู้คนที่เพิ่มขึ้น ตอบโจทย์ความสะดวกสบายของคนเมืองที่จังหวะการทำงานรีบเร่ง เวลาในการจัดเตรียมอาหารมีจำกัด การผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากภาคเอกชนได้สร้างโรงงานและเปิดตัวแบรนด์ต่างๆ การผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วประเทศได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

- ช่วงของการเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยความหลากหลายของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและการโฆษณารูปแบบต่างๆ ผู้คนเริ่มยอมรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างแท้จริง หลายคนมองว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่ต้องมีเมื่อเดินทางออกไปข้างนอก เช่น การไปปิกนิก การนั่งรถไฟต่างเมือง เป็นต้น เป็นอาหารรองท้องจานด่วนที่สะดวกและอร่อย ทำให้ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจีนได้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และการแข่งขันในตลาดเริ่มมีมากขึ้น เริ่มมีการผลิตบะหมี่สำเร็จรูปแบบไฮเอนด์มากขึ้นคือใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ มีบะหมี่สำเร็จรูปนำเข้า สำหรับผู้บริโภคจีนที่มีกำลังการบริโภคและต้องการลิ้มลองรสชาติบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบใหม่ๆ ในช่วงนี้โรงงานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขนาดใหญ่ในประเทศจีนมีกว่า 20 โรงงาน

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเนื้อตุ๋น ‘คังชือฟู่’ เจ้าตลาดในจีน (ภาพจาก cnr.cn)
- ช่วงของการแข่งขันทางตลาดที่รุนแรง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายเป็นสินค้าที่คนจีนทั่วไปคุ้นเคย คนในเมืองใหญ่ไปจนเขตชนบทต่างก็มีกำลังซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาบริโภค ระดับของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีนก็มีมากมายตั้งแต่ราคาไม่กี่หยวนไปจนถึงหลักสิบหยวน นอกจากนี้ยังมีการเข้ามาแข่งขันจากแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากเกาหลีใต้ที่มีเส้นนุ่มเหนียว รสชาติถูกปากชาวจีนรุ่นใหม่ อีกทั้งมาตั้งโรงงานผลิตและขายในจีนแล้วทำให้ราคาไม่สูงกว่าแบรนด์ของจีนเกรดพรีเมียมมากนัก การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนจีนออกไปแนวรักสุขภาพมากขึ้น หลายแบรนด์เริ่มออกบะหมี่แบบไม่ทอดน้ำมันก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างดีทีเดียว เพราะคนจีนก็หันมาสนใจสุขภาพกันมากขึ้น รูปแบบของบะหมี่สำเร็จรูปแบบไร้น้ำมันก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า หลากหลายแบรนด์ก็ออกผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ออกมาในตลาด

จากการพัฒนาของตลาดในประเทศจีนมาหลายสิบปีบะหมี่สำเร็จรูปกลายเป็นอาหารรองท้องจานด่วนที่มีมากมายหลายประเภท อุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารประเภทหนึ่งที่สำคัญของจีน กระตุ้นการบริโภคแป้งสาลีจากเกษตรกรในประเทศ

ในปี 2011-2017 กำลังการผลิตบะหมี่สำเร็จรูปของจีนเฉลี่ยประมาณปีละ 10 ล้านตัน แต่หลังจากปี 2018-2020 การผลิตเริ่มปรับตัวลดลงเป็นประมาณปีละ 5.56 ล้านตันต่อปี สาเหตุที่ลดลงก็เพราะว่า คนในประเทศจีนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับสารอาหารและสุขภาพ ทางเลือกในการบริโภคอาหารมีมากขึ้น กระแสบูมของเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้คนจีนสามารถสั่งอาหารปรุงสุกได้สะดวกรวดเร็ว ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ความต้องการของการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปลดลง อีกอย่างที่ผู้เขียนสังเกตคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลักๆแล้วไม่ใช่ขวัญใจของชาวรายได้น้อยในจีน คนจีนส่วนใหญ่เลือกทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ในสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรให้ทานมากนัก เช่นต้องเดินทางไกล ติดตัวเป็นเสบียง และอีกอย่างราคาอาหารทั่วไปในจีนที่ประชาชนส่วนใหญ่บริโภคกันเป็นประจำก็ไม่แพงไปกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหนึ่งถ้วยแบบพกพามากนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น