เทศกาลตรุษจีน ในวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ ชาวจีนเรียก ‘ชุนเจี๋ย’ (春节) ซึ่งแปลกันตามหน้าศัพท์หมายถึง เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ถือเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดของจีน และยังเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูเพาะปลูก สำหรับปี 2022 นี้ ตรงกับวันที่ 1 ก.พ.
เทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่พิธีเซ่นไหว้เทพเจ้าเตาไฟในวันที่ 23 หรือ 24 ของปีเก่า และส่งท้ายกันด้วย ‘เทศกาลหยวนเซียว’ หรือ เทศกาลโคม (แรม 15 ค่ำเดือนอ้าย) ระหว่างเฉลิมฉลองตรุษจีนมีพิธีกรรมธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ บางส่วนยังคงสืบทอดกันมาถึงยุคปัจจุบัน ขณะที่บางส่วนได้เลือนหายไป หรือแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
สำหรับปีนี้ “มุมจีน” ขอนำเสนอความหมายของธรรมเนียมประเพณีในเทศกาลตรุษจีนที่ยังมีการสืบสานมาถึงปัจจุบัน
ติด “ฝูกลับหัว” (福倒) โชคมงคลได้มาถึงบ้านแล้ว
ระหว่างเทศกาลตรุษจีน ชาวจีนนอกจากนิยมตกแต่งบ้านเรือนด้วยกระดาษแดง ภาพวาด และภาพกระดาษตัดสีสันสดใส สร้างบรรยากาศของความสนุกสนานรื่นเริง และเพื่อเป็นการต้อนรับความสุขและขอโชคขอพร ก็ยังนำอักษรมงคล เช่นตัว ‘福’ (ฝู) หรือตัว 春 (ชุน) มาติดที่บานประตูหน้าบ้าน ตามกำแพง หรือบริเวณเหนือกรอบบนของประตู
การติดอักษรมงคลที่แพร่หลายที่สุด คือ 福 เป็นประเพณีมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยซ่ง และมักติดกลับหัวซึ่งในภาาษจีนกลางเรียก 福倒 (ฝูเต้า)ที่มีความหมายว่า สิริมงคลหรือโชคดีได้มาถึงบ้านแล้ว
เรื่องการกลับหัวตัวอักษรนี้มีเหตุที่มาเมื่อครั้งอดีตกาล ซึ่งเล่าสืบกันมาในหมู่สามัญชนว่า
“สมัยหมิงไท่จู่จูหยวนจางหรือจักรพรรดิหงอู่แห่งราชวงศ์หมิง ได้ใช้อักษร ‘ฝู’ เป็นเครื่องหมายลับในการสังหารคน หม่าฮองเฮาทราบเรื่องจึงคิดอุบายเพื่อช่วยชีวิตราษฎร โดยมีพระราชเสาวนีย์ให้ทุกบ้านติดตัวฝูที่หน้าประตูเพื่อลวงให้ฮ่องเต้สับสน
“รุ่งขึ้นชาวเมืองต่างนำตัวอักษรฝูมาติดที่หน้าประตูตามนั้น ทว่ามีบ้านหนึ่งไม่รู้หนังสือจึงติดตัวฝูกลับหัวด้วยความไม่ตั้งใจ เมื่อฮ่องเต้ทอดพระเนตรเห็นเข้าก็ทรงกริ้ว รับสั่งให้ประหารคนในบ้านทั้งหมด หม่าฮองเฮาเห็นท่าไม่ดีจึงรีบทูลยับยั้งไว้ว่า ‘บ้านนี้ทราบว่าพระองค์จะเสด็จมา จึงตั้งใจติดตัวฝูกลับหัว (福倒-ฝูเต้า) เพื่อแสดงความปิติยินดีต่อการเสด็จเยือนของพระองค์ ราวกับว่าความสุขสวัสดีและโชคลาภได้มาถึงที่บ้าน’ ได้ยินดังนี้แล้วจูหยวนจางจึงไว้ชีวิตชาวบ้านผู้นั้น การติดตัวฝูกลับหัวตกทอดสืบต่อมา”
เชิญเทพผู้พิทักษ์ประตู
ในวันส่งท้ายปีเก่า หรือที่เรียกว่า ฉูซี (除夕) ชาวจีนมีธรรมเนียมในการติด ‘เหมินเสิน (门神)’ หรือ ภาพเทพเจ้าผู้คุ้มครองประตู เพื่อป้องกันขับไล่สิ่งชั่วร้าย หรือเป็นเสมือนเทพผู้คอยปกปักษ์รักษานั่นเอง
‘เหมินเสิน’ มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างยาวนาน ในอดีตกาลจะถือตัวประตูเป็นเทพเจ้าโดยตรง จนกระทั่งหลังสมัยราชวงศ์ฮั่น (202 B.C.- ค.ศ.220) จึงได้ปรากฏการใช้ภาพคนมาเป็นตัวแทนเทพเจ้า แรกเริ่มเดิมทีใช้ภาพนักรบผู้กล้านามว่า ‘เฉิงชิ่ง (成庆)’ ต่อมาเปลี่ยนเป็นภาพวาดของ ‘จิงเคอ (荆轲)’ จอมยุทธ์ชื่อดังสมัยจ้านกั๋ว (475 - 221 B.C.)
‘เหมินเสิน’ ในราชวงศ์ใต้และเหนือ (ค.ศ.420 - 589) จะเป็นภาพคู่เทพเจ้าสองพี่น้อง ‘เสินถู (神荼)’ ‘ยูไล (郁垒)’ ตลอดจนสองขุนพลเอกในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618 - 907) ที่มีชื่อว่า ‘ฉินซูเป่า (秦叔宝) และอี้ว์ฉือจิ้งเต๋อ (尉迟敬德)’แต่ต่อมากษัตริย์ถังไท่จงหลี่ซื่อหมินรู้สึกเห็นใจว่าสองขุนพลจะลำบากเกินไป จึงได้สั่งให้จิตรกรหลวงวาดภาพสองขุนพลขึ้นมา แล้วใช้ติดไว้ที่ประตูทั้งสองข้างแทน จึงได้กลายเป็นภาพ ‘เหมินเสิน’ ในเวลาต่อมาเมื่อถึงยุค 5 ราชวงศ์ (ค.ศ.907-960) ได้เริ่มนำภาพของ จงขุย (钟馗) เทพผู้ปราบภูตผีปีศาจ มาติดเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย
หลังราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960 - 1127) ‘เหมินเสิน’ ยังมีรูปแบบเหมือนก่อนหน้านั้น แต่เพิ่มการประดับตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามขึ้น ในห้องรับแขกและห้องนอนจะมีการติดภาพเทพเจ้า 3 องค์ (三星) ที่เราคุ้นหูกันดีว่า ‘ฮก ลก ซิ่ว (福 - 禄 - 寿)’ นอกจากนั้น ยังมีภาพชุมนุมเทพเจ้า (万神图) ตามอย่างลัทธิเต๋า และภาพพระพุทธเจ้า 3 ปาง ซันเป่าฝอ (三宝佛) ฯลฯ ด้วย
คืนส่งท้ายปีเก่า
ชาวจีนมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับ “ฉูซีเยี่ย (除夕夜)” หรือ คืนส่งท้ายปีเก่าว่า ในยุคโบราณสมัยที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ มีสัตว์ประหลาดที่ดุร้ายมากตัวหนึ่ง ชื่อว่า “เหนียน (年)” ทุกปีในคืนวันส่งท้ายปี จะขึ้นจากทะเลมาอาละวาดทำร้ายผู้คนและทำลายเรือกสวนไร่นา ในวันนั้นของทุกปีชาวบ้านจึงมักจะหลบกันอยู่แต่ในบ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่มืด ปิดประตูหน้าต่างแน่นหนา และไม่หลับไม่นอนเพื่อเฝ้าระวัง รอจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้นจึงเปิดประตูออกมา และกล่าวคำยินดีแก่เพื่อนบ้านที่โชคดีไม่ถูก “เหนียน” ทำร้าย
ในคืนส่งท้ายปีของปีหนึ่ง “เหนียน” ได้เข้าไปอาละวาดในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง กินชาวบ้านจนเรียบ ยกเว้นคู่บ่าวสาวที่เพิ่งแต่งงาน เนื่องจากสวมชุดสีแดงจึงปลอดภัย และเด็กคนหนึ่งที่กำลังเล่นประทัดอยู่กลางถนน ซึ่งเสียงดังจนทำให้ “เหนียน” ตกใจกลัวหนีไป ชาวบ้านจึงรู้จุดอ่อนของ “เหนียน”
ดังนั้น เมื่อถึงคืนส่งท้ายปีเก่า ชาวบ้านจึงพากันสวมใส่เสื้อผ้าสีแดง นำสิ่งของที่มีสีแดงมาประดับตกแต่งบ้านเรือน และจุดประทัด ทำให้ “เหนียน” สัตว์ประหลาดตัวร้ายไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ชาวบ้านจึงอยู่กันอย่างสงบสุข จากนั้นมาจึงมีธรรมเนียมปฏิบัติ ในคืนส่งท้ายปีจะไม่ยอมนอนเพื่อ “เฝ้าปี” หรือเรียกในภาษาจีนว่า โส่วซุ่ย(守岁) เฝ้าดูปีเก่าล่วงไปจนวันใหม่ย่างเข้ามา
ในคืน “เฝ้าปี” สมาชิกในบ้านมีกิจกรรมร่วมกันมากมาย ทั้งด้านการกินอาหาร การเล่นเกมต่างๆ กระทั่งใกล้เวลาเที่ยงคืน ผู้อาวุโสในบ้านก็จะเริ่มตั้งโต๊ะเพื่อจัดเรียงธูปเทียนไหว้บรรพบุรุษ และต้อนรับเทพแห่งโชคลาภ นอกจากนั้นก็ยังมีการจุดประทัด จุดโคมไฟ กระทั่งรุ่งอรุณแรกของปี ก็จะสวัสดีปีใหม่กัน กินเกี๊ยว เพื่อความเป็นสิริมงคล
เซ่นไหว้บรรพบุรุษ
ประเพณีการเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษในช่วงเทศกาลตรุษจีน ถือกำเนิดขึ้นจากรากฐานแห่งคุณธรรมความกตัญญูกตเวที ที่ชาวจีนยึดมั่นและให้ความสำคัญยิ่ง
ตามประเพณีแบบดั้งเดิม แต่ละบ้านจะนำบันทึกลำดับวงศ์ตระกูลหรือที่เรียกว่า ‘เจียพู่’ ( 家谱) หรือรูปภาพของบรรพบุรุษหรือแผ่นป้ายที่สลักชื่อบรรพบุรุษ เป็นต้น มาวางไว้ที่โต๊ะเซ่นไหว้ ที่มีกระถางธูปและอาหารเซ่นไหว้
ในประเทศจีน บางแห่งจะทำพิธีสักการะเทพเจ้าแห่งโชคลาภหรือไฉเสิน (财神) หรือที่ไฉ่สิ่งเอี๊ย ในภาษาแต้จิ๋ว
สำหรับช่วงเวลาในการประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษนั้น จะแตกต่างกันออกไป กล่าวคือบางบ้านจะเซ่นไหว้ก่อนการรับประทาน ‘เหนียนเย่ฟั่น’ หรืออาหารมื้อแรกของปีใหม่ ขณะที่บางบ้านนิยมเซ่นไหว้ก่อนหรือหลังคืนส่งท้ายปีเก่าหรือ ที่เรียกว่า ‘ฉุ่เย่’ บางบ้านก็นิยมประกอบพิธีในช่วงเช้าของในวันที่ 1 เดือน 1 หรือ ชูอี ( 初一)
มื้อส่งท้ายปีเก่า
‘เหนียนเยี่ยฟ่าน (年夜饭)’ หมายถึงอาหารค่ำของคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญก่อนขึ้นปีใหม่ ที่ชาวจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมักไหว้บรรพบุรุษ และจุดประทัดกันก่อนที่จะลงมือรับประทานอาหารมื้อพิเศษนี้
‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ มีความพิเศษตรงที่เป็นมื้อใหญ่ที่สมาชิกในครอบครัวทุกรุ่นทุกวัยและทุกเพศจะพร้อมหน้าพร้อมตาล้อมวงร่วมรับประทานอาหารกัน สมาชิกที่แยกไปอยู่ที่อื่นจะพยายามกลับมาให้ทันวันส่งท้ายปี แต่หากกลับมาไม่ได้จริงๆ ครอบครัวจะเว้นที่ว่างพร้อมวางชามและตะเกียบไว้เสมือนหนึ่งว่ามากันครบ หลังจากทาน ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ เสร็จแล้ว ผู้ใหญ่จะให้ ‘ยาซุ่ยเฉียน (压岁钱)’ หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘อั่งเปา’ แก่เด็กๆ
ความพิเศษของ ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ ยังอยู่ที่อาหารหลากหลาย ให้สมาชิกที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งปี ได้ผ่อนคลายร่วมทานอาหารอย่างมีความสุขอยู่กับครอบครัวในคืนสุดท้ายของปี
ขณะที่ชื่อของอาหารที่นำมาตั้งโต๊ะยังแฝงไว้ด้วยความหมายที่เป็นสิริมงคล จานบังคับที่ทุกโต๊ะต้องมีคือ ‘จี’ (鸡 ไก่) และ ‘อี๋ว์’(鱼 ปลา) แทนความหมาย ‘จี๋เสียงหยูอี้ (吉祥如意 เป็นสิริมงคลสมดังปรารถนา)’ และ ‘เหนียนเหนียนโหยวอี๋ว์ (年年有余 มีเงินทองเหลือใช้ทุกปี)’
กิน “เกี๊ยวข้ามปี” โชคดีตลอดไป
ประเพณีการกิน ‘เจี่ยวจือ’ ( 饺子) หรือ เกี๊ยวต้มจีนในวันตรุษจีนเริ่มเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1368-1644) การทาน ‘เจี่ยวจือ’ มีความหมาย ‘เปลี่ยนปีเชื่อมเวลา’ (更岁交子) เพราะคำเรียกอาหารชนิดนี้饺ออกเสียงว่า เจี่ยว คล้ายเสียง 交 ที่อ่านว่า เจียว ซึ่งมีความหมายว่าเชื่อมต่อกัน และ 子-จื่อ ก็คือ 子时 อ่านว่า จื่อสือ คือหน่วยบอกเวลาสมัยโบราณ ตรงกับช่วง 23.00 น.-1.00 น.
นอกจากนั้น การรับประทานอาหารชนิดนี้ยังมีความหมายสำคัญของการรวมตัวของคนในครอบครัวอีกด้วย เมื่อแป้งที่ห่อไส้เรียกว่า 和面 อ่านว่า เหอเมี่ยน คำว่า 和 พ้องเสียงกับคำว่า 合(เหอ) ที่แปลว่าร่วมกัน และ 饺-เจี่ยว ก็ออกเสียงคล้ายกับคำว่า 交 ที่มีอีกความหมายว่า มีความสัมพันธ์ต่อกันด้วย
การที่เกี๊ยวเป็นอาหารสำคัญในวันตรุษจีนของชาวจีน ยังมีเหตุผลมาจากรูปลักษณ์ของเจี่ยวจือ ที่เป็นรูปทรงคล้ายเงินในสมัยโบราณ การรับประทานเจี่ยวจือ จึงเหมือนการนำเงินทองเข้ามาสู่ตัว
อาหารรับขวัญวันปีใหม่
การตระเตรียมอาหารการกินในเทศกาลตรุษจีน นับเป็นงานช้างแห่งปีทีเดียว โดยราวสิบวันก่อนวันปีใหม่ชาวจีนจะเริ่มสาละวนกับการซื้อหาข้าวของ อาทิ เป็ด ไก่ ปลา เนื้อ ชา เหล้า ซอส วัตถุดิบเครื่องปรุงสำหรับอาหารผัดทอด ขนมนานาชนิด และผลไม้
อาหารการกินในวันตรุษจีน ยังโปรยประดับด้วยคำที่เป็นสิริมงคล ชาสำหรับคารวะแขก ในวันปีใหม่ของคนเจียงหนันยังใส่ลูกสมอ 2 ลูกไว้ในจานรองถ้วยชาหรือถาดชุดชา เพื่อสื่อความหมายว่า ‘ชาเงิน’ และในสำรับอาหารจะต้องมีผัดผักกาดรวมอยู่ด้วย เพื่อเป็นเคล็ดว่า กินแล้วจะบันดาล ‘ความสนิทสนมอบอุ่น’ เนื่องจาก ‘ผัดผักกาด’ ในภาษาจีนคือ เฉ่าชิงไช่ (炒青菜) ซึ่งมีเสียงใกล้เคียงกับ ชินชินเย่อเย่อ (亲亲热热) ที่แปลว่า ‘ความสนิทสนมอบอุ่น’ และอาหารสำคัญอีกอย่างคือ ผัดถั่วงอก เนื่องจากถั่วงอกเหลืองมีรูปร่างคล้ายกับ ‘หยกหรูอี้ว์’ ซึ่งมีเสียงพ้องกับคำว่า หรูอี้ (如意) ที่แปลว่า สมปรารถนา
นอกจากนี้ ตามประเพณีการกินอาหารปีใหม่จะต้องกินหัวปลา แต่อย่าสวาปามจนเกลี้ยงจนแมวร้องไห้ ธรรมเนียมการกินปลาให้เหลือนี้เพื่อเป็นเคล็ดว่า ‘เหลือกินเหลือใช้’ ซึ่งในภาษาจีน มีคำว่า ชือเซิ่งโหย่วอี๋ว์ (吃剩有鱼) คำว่า ‘鱼-อี๋ว์’ ที่แปลว่าปลานั้น พ้องเสียงกับ ‘余 -อี๋ว์’ ที่แปลว่า เหลือ จึงเป็นเคล็ดว่า ขอให้ชีวิตมั่งมีเหลือกินเหลือใช้
สำรับทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งดีงามของวันรุ่งอรุณแห่งปี
หลังจากรับประทานอาหารมื้อแรกของวันตรุษแล้ว ชาวจีนนิยมไปศาลบรรพบุรุษบูชาบรรพบุรุษ และยังมีวิถีปฏิบัติเพื่อขอพรและขอความเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่อื่นๆ ได้แก่ จุดโคมไฟ จุดประทัด ถวายเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้า ไปวัด ออกจากบ้านไปทัศนาจร รวมถึงการไปเก็บต้นงา เพราะเชื่อว่าชีวิตจะเจริญยิ่งๆขึ้นไปเหมือนต้นงาที่งอกขึ้นเป็นข้อๆ ชั้นๆ
กินขนมเข่ง (年糕) อำนวยพรชีวิตเจริญยิ่งๆขึ้นทุกปีๆ
อาหารที่ขาดไม่ได้ในวันตรุษจีนอีกอย่างคือ ขนมเข่ง ขนมที่ชาวจีนเรียก เหนียนเกา (年糕) นิยมทำกินในหมู่ชาวจีนทางใต้ ประเพณีกินเหนียนเกาในวันตรุษมีมา 7,000 กว่าปีแล้ว เดิมทีทำขึ้นเพื่อเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ ภายหลังกลายเป็นอาหารนิยมในช่วงตรุษจีน มีความหมายอำนวยพรให้ชีวิต ‘เจริญยิ่งๆขึ้นทุกปีๆ ’ (生活年年提高)
จุดประทัดรับปีใหม่
นอกจากคืนวันส่งท้ายปีเก่าและวันที่ 5 เดือน 1 ที่จะมีการจุดประทัดกันแล้ว ประเพณีการจุดประทัดในเช้าวันแรกของปีใหม่ก่อนออกจากบ้าน ก็เป็นความเชื่อของชาวจีนว่า จะเป็นการเริ่มต้นปีด้วยความคึกคักหรือที่เรียกว่า 开门炮 (ไคเหมินเพ่า) เพื่อต้อนรับวันแรกของปี
เรื่องต้องห้ามก่อนวันที่ 5 ‘พ่ออู่ (破五)’
ตรุษจีนเป็นเทศกาลแห่งความสุขสนุกสนาน และยังเป็นเทศกาลที่คงธรรมเนียมประเพณีดั่งเดิมไว้ ซึ่งในช่วงนี้จะมี ‘คำพูดหรือการกระทำต้องห้าม’ เช่น วันชิวอิก หรือวันขึ้นปีใหม่ ผู้หญิงห้ามออกจากบ้านไปอวยพรปีใหม่และห้ามกลับไปบ้านแม่ เด็กน้อยห้ามร้องไห้กระจองอแง ทุกคนห้ามพูดเรื่องอัปมงคล เพื่อนบ้านห้ามทะเลาะเบาะแว้ง รวมทั้งห้ามทำอุปกรณ์เครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์แตกเสียหาย ตลอดจนห้ามเชิญหมอมาที่บ้าน
ตั้งแต่ชิวอิก หรือ ชูอี (初一) จนถึงชูซื่อ (初四) คือวันที่ 1-4 ของปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ ห้ามคนในบ้านทำสิ่งที่ไม่เป็นสิริมงคลทั้งหลายตั้งแต่ใช้เข็มเย็บผ้า กรรไกร กวาดบ้าน และยังห้ามกินข้าวต้มในวันที่ 1 ด้วย เพราะข้าวต้มจัดเป็นอาหารของขอทานคนยากจน
เมื่อเข้าวันที่ 5 หรือชูอู่ (初五) จึงจะเริ่มผ่อนคลายกฎต้องห้ามต่างๆ และเข้าสู่ภาวะปกติ ชาวบ้านจึงเรียกว่า ‘พ่ออู่ (破五)’ ซึ่งหมายถึง ทำให้แตก หรือยกเลิกข้อห้ามในวันที่ 5 โดยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ หุงหาอาหารได้ตามเดิม ส่วนอาหารยอดนิยมในวันนี้จะเป็นเกี๊ยวจีน
นอกจากนั้น นับตั้งแต่วันที่ 5 ผู้คนจะสามารถนำขยะไปทิ้งข้างนอกได้ อย่างที่ชาวจีนเรียกว่า ‘เต้าฉานถู่ (倒残土)’ และยังถือวันที่ 5 นี้ เป็นวันเกิดของเทพเจ้าแห่งโชคลาภเงินทองที่ประจำทั้ง 5 ทิศ ซึ่งตามร้านค้าต่างๆ จะประกอบพิธีไหว้ เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยเปิดกิจการรับปีใหม่ด้วย
อั่งเปา
การแจกอั่งเปา (红包 ซองแดง) หรือ *แต๊ะเอีย (กด/ทับเอว) สำหรับเด็กสมัยใหม่ต่างคาดหวังหรือหลงระเริงไปกับตัวเงินในซอง แต่หารู้ไม่ว่า กุญแจสำคัญอยู่ที่ซองแดงต่างหาก
ชาวจีนนิยมชมชอบ “สีแดง” เป็นที่สุด อย่างที่มีคนเคยพูดว่า “จะถูกจะแพง ก็ขอให้แดงไว้ก่อน” เพราะว่า ตามความเชื่ออย่างจีน สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความมีชีวิตชีวา ความสุข และโชคดี
เรามอบอั่งเปาให้แก่บุตรหลาน หรือญาติผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการมอบโชคลาภและพรอันประเสริฐต่างๆ ให้แก่พวกเขา เงินในซองแดงแค่เพียงต้องการให้เด็กๆ ดีใจ แต่ตัวเอกของประเพณีนี้อยู่ที่ซองแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโชคดี ดังนั้น การเปิดซองอั่งเปาต่อหน้าผู้ให้ถือเป็นเรื่องที่ไม่สุภาพเช่นกัน
อั่งเปา สามารถมอบให้ในระหว่างไหว้ตรุษจีนในหมู่ญาติพี่น้อง หรือวางไว้ข้างหมอนเวลาที่ลูกๆ หลับในคืนวันสิ้นปีก็ได้
ประเพณีการให้แต๊ะเอียได้สืบทอดสู่ชาวจีนรุ่นต่อรุ่น ทั้งในประเทศจีนและจีนโพ้นทะเล ครอบครัวจีนส่วนใหญ่ถือว่า ลูกหลานที่ทำงานแล้ว จะไม่ได้แต๊ะเอีย แต่จะกลายเป็นผู้ให้แทน การให้อั่งเปา ว่าเป็นวิธีการกระชับสัมพันธ์ในหมู่ญาติอีกแบบหนึ่ง
* ที่มาของคำว่า “แต๊ะเอีย” มาจากสมัยก่อนเงินตราที่ชาวจีนโบราณใช้กันเป็นโลหะ ขณะนั้นยังไม่มีชุดเสื้อผ้าที่มีกระเป๋า จึงได้นำเงินใส่ถึงและผูกรอบเอว เงินยิ่งมากน้ำหนักยิ่งกดทับที่เอวมากตาม
กินบัวลอยแล้วออกไปชมโคมไฟ ในคืน ‘หยวนเซียว’
เทศกาลหยวนเซียว (元宵节) คือวันที่ 15 เดือนอ้ายในปฏิทินจันทรคติ คำว่า 元 หยวน มีความหมายว่า แรก ส่วน 宵 อ่านว่า เซียว แปลว่า กลางคืน จึงใช้เรียกคืนที่พระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกในรอบปีหลังผ่านพ้นตรุษจีน สำหรับคืนนี้ มีประเพณีว่า ชาวจีนจะต้องรับประทานบัวลอยกันในครอบครัวและออกไปชมโคมไฟที่จะนำมาประดับประดากันอย่างสวยงาม ดังนั้น จึงมีการเรียกเทศกาลนี้อีกอย่างว่า เทศกาลโคมไฟ (灯节)
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทุกครั้งที่ถึงค่ำคืนเทศกาลหยวนเซียว ผู้คนก็จะหลั่งไหลไปตามท้องถนนเพื่อชมโคมไฟที่มีรูปทรงต่างๆ ทายปัญหาเชาวน์ที่ซ่อนอยู่ในโคมไฟ เล่นดอกไม้ไฟ จุดประทัด แห่สิงโต ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมบันเทิงใจ
นอกจากการชมโคมไฟแล้ว สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ คือการรับประทานบัวลอยที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า ภายในมีไส้ทั้งไส้หวานและไส้เค็ม ปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วนำไปต้มหรือนำไปทอด ในยุคแรก ชาวจีนเรียกขนมชนิดนี้ว่า浮圆子ฝูหยวนจื่อ (,浮-ลอย 圆子-ลูกกลมๆ) ต่อมาก็เรียกว่า 汤团 ทังถวน (汤-น้ำแกง团-ลูกกลมๆ ) หรือ 汤圆 ทังหยวน โดยมีความหมายเหมือนกัน ทั้งออกเสียงใกล้เคียงกัน และ 团圆 เมื่อรวมกันแล้ว ก็ได้ความหมายถึงการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว