สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการจีน รายงาน (21 ม.ค.) คณะนักสัตววิทยาชาวจีนค้นพบว่า การเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ (Gut microbiota) ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของแพนด้าอาจเป็นเหตุผลที่แพนด้ายักษ์ยังคงมีรูปร่างอ้วนกลม แม้ว่าเกือบจะเป็นสัตว์กินมังสวิรัติ
รายงานระบุว่า อาณานิคมของโปรไบโอติก (probiotics) หรือจุลินทรีย์ตัวดีชนิดหนึ่งของแพนด้าจะขยายตัวในฤดูกินหน่อไม้ ช่วยให้แพนด้ากักเก็บไขมันได้มากขึ้น เพื่อชดเชยให้ร่างกายในยามหิวโหยที่มีเพียงใบไผ่ให้เคี้ยว
นายเว่ย ฝู่เหวิน นักวิจัยจากสถาบันสัตววิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน พบว่า ในฤดูกินหน่อไม้แพนด้าป่าในเทือกเขาฉินหลิ่งจะมีจำนวนแบคทีเรีย "คลอสตริเดียม บิวทิไรคัม" (Clostridium butyricum) ในลำไส้ สูงกว่าช่วงฤดูกินใบไผ่อย่างมีนัยสำคัญ
คณะนักวิจัยปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระแพนด้าที่เก็บได้จากป่า สู่หนูทดลองที่ปราศจากเชื้อโรคและเลี้ยงด้วยอาหารที่ทำจากไผ่ ผลปรากฎว่าหนูซึ่งถูกปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระแพนด้าที่เก็บได้ในช่วงฤดูกินหน่อไม้ มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมาก
การวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่าบิวทิเรต (butyrate) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากการย่อยของแบคทีเรียคลอสตริเดียม บิวทิไรคัม สามารถปรับปรุงการแสดงออกของยีนจังหวะเซอร์คาเดียน (circadian rhythm gene) ที่เรียกว่าเพอร์2 (Per2) ได้ โดยยีนตัวนี้มีหน้าที่เพิ่มการสังเคราะห์และกักเก็บไขมัน
นายหวง กว่างผิง ผู้วิจัยจากสถาบันสัตววิทยาฯ กล่าวว่า “การศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราเจอความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างจุลินทรีย์ในลำไส้กับลักษณะทางพันธุกรรม (phenotype) ของแพนด้า” โดยทีมวิจัยกำลังวางแผนที่จะคัดแยกจุลินทรีย์ในลำไส้ของแพนด้าเพิ่มเติม และค้นหาบทบาทที่จุลินทรีย์เหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพของแพนด้า
ทั้งนี้ นายเว่ยฯ กล่าวว่า “การระบุชนิดแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อสัตว์เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะวันหนึ่งเราอาจจะสามารถรักษาโรคบางชนิดด้วยโปรไบโอติกได้”