การค้นพบสุสานของทหารผู้กรำศึกในสมัยราชวงศ์ถัง ( ค.ศ. 618-907) โดยบังเอิญ ทำให้นักโบราณคดีจีนมีหลักฐานยืนยันว่า กัญชาเป็นอาหารสำคัญอย่างหนึ่งของคนในยุคนั้น ถึงขนาดใส่ไว้ในสุสาน เพื่อให้ผู้ตายได้กินในปรโลกกันเลยทีเดียว
การปลูกกัญชาและการกินเมล็ดกัญชาในลักษณะของข้าวต้มแบบหนึ่งของคนจีนยุคโบราณ เป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้ว อีกทั้งเอกสารทางประวัติศาสตร์ของจีนหลายชิ้นก็พูดถึงเรื่องที่กัญชาเป็นแหล่งอาหารสำคัญ โดยเป็นพืชอาหารหลักชนิดหนึ่งในทั้งหมด 5 ชนิด ทว่ายังขาดแคลนหลักฐานทางโบราณคดีมาสนับสนุน
กระทั่งวันหนึ่งในปี 2562 ขณะกำลังมีงานก่อสร้างที่บริเวณสนามเด็กเล่นของโรงเรียนประถมศึกษาในเมือง ไท่หยวน มณฑลซานซี คนงานขุดไปเจอสุสานของ “กั๋ว ซิง” (Guo Xing) นายกองทหารม้าผู้ร่วมรบกับ “หลี่ ซือหมิน” หรือจักรพรรดิถังไท่จง มาอย่างโชกโชนหลายสมรภูมิบนคาบสมุทรเกาหลี
การค้นพบสุสานครั้งนี้เป็นสิ่งยืนยันว่า ในยุคที่อารยธรรมจีนเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด นอกจากกัญชาจะถูกนำมาเสพ เพื่อกระตุ้นจิตใจให้กระปรี้กระเปร่า, นำเส้นใยมาทอผ้า และมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคแล้ว กัญชายังเป็นอาหารอีกด้วย
สุสานโบราณเงียบงัน ไร้วี่แววผู้ย่างกรายเข้ามา ภาพวาดฝาผนังและข้าวของเครื่องใช้ถูกเก็บไว้ภายในห้อง ที่ปราศจากความอับชื้นผิดธรรมดามานานถึง 1,320 ปี จึงมีสภาพเกือบสมบูรณ์เหมือนเดิมทุกอย่าง
ในโถบรรจุอาหารหลักสำหรับบริโภคใบหนึ่ง นักโบราณคดีพบเศษร่องรอยของกัญชา ซึ่งบางเมล็ดยังคงสีสันดั้งเดิมไว้ได้
“บนหีบศพวางโถหลายใบ บรรจุธัญพืช ซึ่งเป็นอาหารหลัก และใบหนึ่งมีกัญชาเก็บอยู่ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ทายาทของ “กั๋ว ซิง” ฝังกัญชาในฐานะเป็นธัญพืชอาหารสำคัญอย่างหนึ่ง” อาจารย์ จิน กุ้ยอวิ๋น ประจำโรงเรียนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัยซานตง ระบุในรายงาน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Agricultural Archaeology เมื่อเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา
นอกจากนั้น เมล็ดกัญชาโบราณยังมีขนาดใหญ่กว่าเมล็ดกัญชาทั่วไปเกือบ 2 เท่า ซึ่งแสดงว่า ไม่ใช่กัญชาพันธุ์เดียวกับที่ปลูกกันในปัจจุบัน นักวิจัยเชื่อว่า เป็นสายพันธุ์ ซาติวา (Cannabis sativa) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียกลาง และมีสาร THC ซึ่งเสพแล้วทำให้เคลิบเคลิ้ม เข้มข้นต่ำกว่ากัญชาสมัยใหม่ ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ ซาติวา กับ อินดิกา และมีฤทธิ์มากกว่า
“กั๋ว ซิง” เสียชีวิตเมื่ออายุ 90 ปี อาจารย์จินและคณะผู้ร่วมวิจัยจากสถาบันโบราณคดีเทศบาลไท่หยวน ตั้งข้อสังเกตว่า ครอบครัวมิได้ฝังข้าวไว้ในสุสาน เพื่อเป็นอาหารและเพื่อสุขภาพ ที่ดีสำหรับผู้วายชนม์ในโลกหลังความตาย
คณะนักวิจัยระบุว่า นี่อาจสะท้อนให้เห็นว่า กัญชามีความสำคัญยิ่งกว่าข้าวด้วยซ้ำไป นอกจากนั้น ยังสังเกตว่า เมล็ดกัญชาไม่ปอกเปลือก ซึ่งแม้เปลือกกัญชารสชาติไม่อร่อย แต่ก็ช่วยรักษาฤทธิ์ของกัญชา และเปลือกช่วยให้เก็บได้ทนนาน
การค้นพบร่องรอยของกัญชาในสุสานทั่วประเทศจีนที่ผ่านมา ซึ่งย้อนไปไกลถึงเมื่อ 6,600 ปีก่อน มักอธิบายกัญชาในแง่เป็นพืช ที่ใช้เพื่อสร้างภาพหลอนในพิธีกรรมทางศาสนาเสียเป็นส่วนใหญ่ การค้นพบสุสานครั้งนี้จึงเท่ากับเปิดมิติใหม่ของการใช้ประโยชน์จากกัญชาในหมู่ผู้คนเมื่อครั้งอดีตกาล
ข้อมูลจาก "Chinese tomb reveals ancient staple taste for cannabis: study" ในเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์