xs
xsm
sm
md
lg

ดีวันดีคืน บทบาทจีนในภูมิภาคตะวันออกกลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นาย หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนพบหารือกับนาย นาเยฟ ฟาเลาะห์ อัล-อัชราฟ  เลขาธิการของคณะมนตรีความร่วมมือชาติในอ่าวอาหรับ (GCC) ที่เมืองอู๋ซี มณฑลเจียงซู เมื่อวันอังคารที่ 11 ม.ค. 2565 –ภาพจากสำนักข่าวซินหัว
ในช่วงสัปดาห์นี้ จีนมีโอกาสต้อนรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากชาติในภูมิภาคตะวันออกกลางหลายราย พร้อมกับมีการประชุมหารือกัน โดยให้คำมั่นยกระดับความสัมพันธ์ , การเร่งการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรี และกระชับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ในภูมิภาค


นาย นาเยฟ ฟาเลาะห์ อัล-อัชราฟ เลขาธิการของคณะมนตรีความร่วมมือชาติในอ่าวอาหรับ ( Gulf Cooperation Council –GCC) พร้อมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศชาติสมาชิก 4 ชาติ จากทั้งหมด 6 ชาติ ได้แก่ซาอุดิอาระเบีย , คูเวต, โอมาน และบาห์เรน ได้เดินทางมาเยือนเมือง อู๋ซี มณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออก


ภายหลังการหารือระหว่างนาย หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กับเลขาธิการ GCC ก็ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า ทั้งสองฝ่ายจะสรุปการเจรจา เกี่ยวกับข้อตกลงเขตการเสรีระหว่างจีนกับ GCC ให้ได้โดยเร็วที่สุด พร้อมกับเร่งให้มีการลงนามรับรองแผนการปฏิบัติงาน เพื่อการหารือเชิงยุทธศาสตร์ในอีก 3 ปีข้างหน้า

นอกจากนั้น นายหวัง ยังมีการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศ 4 ชาติ GCC โดยปักกิ่งแสดงความชื่นชมแต่ละชาติ ที่ให้การสนับสนุนนโยบายของจีนด้านไต้หวัน , สิทธิมนุษยชน ,ปัญหาในภูมิภาคซินเจียง และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว2020 ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นประเด็น ที่ถูกสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์ นอกจากนั้น รัฐบาลปักกิ่งยังพูดถึงประเด็นเศรษฐกิจว่า จีนพร้อมให้ความร่วมมือกับชาติในตะวันออกกลางในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การเกษตร, พลังงาน , อี-คอมเมิร์ซ ,การพัฒนาโครงข่าย 5G ไปจนถึงการบังคับใช้ข้อกฎหมาย ตลอดจนโครงการด้านโบราณคดี

การมาเยือนของเลขาธิการ GCC และคณะยังมีขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการมาเยือนจีนของ นาย เมฟเลิต ชาวูโชลู รัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกี ขณะที่นาย ฮอสเซน อามีร์-อับดุลลาฮียาน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ก็มีกำหนดมาเยือนในช่วงนี้เช่นกัน


จีนแสดงบทบาทโดดเด่นในช่วงเวลา ที่ปรากฏสัญญาณบ่งชี้หลายประการว่า พี่เบิ้มในตะวันออกกลางอย่างสหรัฐฯ อาจกำลังถอยออกมาจากการที่เคยมีอิทธิพลครอบงำ เหนือภูมิภาคแห่งนี้ โดยเกิดการตั้งคำถามขึ้น ทั้งจากชาวอเมริกัน นักการเมือง และแม้แต่รัฐบาลเอง เกี่ยวกับภาระผูกพันด้านความมั่นคงในอนาคต ที่สหรัฐฯ มีต่อตะวันออกกลาง 

 นอกจากนั้น เมื่อปี 2561 สหรัฐฯ ก็ได้ถอนตัวจากข้อตกนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ ซึ่งเป็นข้อตกลง เพื่อควบคุมไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แลกกับการยุติคว่ำบาตรอิหร่าน อีกทั้งสหรัฐฯยังถอนทหารอเมริกันทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานเมื่อปีที่แล้ว

 เรือบรรทุกน้ำมันที่ท่าเรือ ราส อัล-คาอีร์ ( Ras al-Khair ) ในซาอุดิอาระเบีย – แฟ้มภาพเอเอฟพี
จีนเป็นชาติผู้ซื้อพลังงาน และเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่สุดของตะวันออกกลาง นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ก็ไปไกลมากกว่าแค่ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ โดยจีนยังเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านกับซาอุดิอาระเบีย, อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งยังมีส่วนร่วมในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ หวัง จิน ประจำสถาบันตะวันออกกลางศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนอร์เวสต์ของจีนระบุว่า ชาติในอ่าวอาหรับยินดีกระชับความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับจีน ทั้งๆที่รู้ดีว่า สหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรของตน กำลังจับตาดูการเติบโตของจีนในตะวันออกกลางอยู่ก็ตาม


ด้านนาย ซีโน ลีโอนี แห่งสถาบัน Lau China ในสังกัดคิงส์คอลเลจลอนดอนมองว่า จีนต้องการแรงสนับสนุนจากชาติในตะวันออกกลางและภูมิภาคแอฟริกาเหนือ (MENA) ก็เพราะชาติเหล่านี้ไม่ถามเรื่องกิจการภายในของจีนนั่นเอง


ข้อมูล จาก “China's meetings with Middle East ministers sets the scene for Beijing to step up in region” ในเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์


กำลังโหลดความคิดเห็น