ณ สิ้นปี 2021 เครือข่ายทางรถไฟความเร็วสูงในประเทศจีน ยาวกว่า 40,000 กิโลเมตรแล้ว ในเวลาแค่หนึ่งศตวรรษเศษๆ จีนสามารถก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจนมีความยาวเทียบเท่ากับเส้นศูนย์สูตรโลก (40,075.2 กิโลเมตร) ที่ลากผ่าน 13 ประเทศ
เครือข่ายทางรถไฟความเร็วสูงในจีน มีความยาวมากกว่า 40,000 กิโลเมตรเมื่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงใหม่ล่าสุด คือสายอันชิ่ง-จิ่วเจียง เปิดให้บริการไปในวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ทางรถไฟไฮสปีดสายใหม่ล่าสุดมีความยาว 176 กิโลเมตร ออกแบบอัตราความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เชื่อมระหว่างเมืองในภาคตะวันออกจีน คือเหอเฝย เมืองเอกของมณฑลอันฮุย และหนันชาง เมืองเอกของมณฑลเจียงซี โดยช่วยลดทอนระยะเวลาเดินทางระหว่างสองเมืองนี้เหลือ 2 ชั่วโมง 22 นาที จาก 4 ชั่วโมง
ไฮสปีดสายนี้ยังจะไปเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายปักกิ่ง-ฮ่องกง
ย้อนรอยมหัศจรรย์การพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีน
จีนเริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในปี 2004 โดยกำหนด “แนวกระดูกสันหลัง” ของโครงข่ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ที่เรียกว่า “สี่ระเบียงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ-ใต้” และ “สี่ระเบียงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก-ตะวันตก”
อีกทั้งเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ตัดผ่านกลุ่มเมืองต่างๆ กลุ่มเมืองเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง กลุ่มเมืองเขตเศรษฐกิจแม่น้ำไข่มุก เป็นต้น เส้นทางเหล่านี้ได้เชื่อมโยงกลุ่มเมืองในภาคต่างๆ นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยเพื่อพัฒนาเขตเมืองได้อย่างทั่วถึง
เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกคือ สายปักกิ่ง-เทียนจิน ได้เปิดบริการเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2008
“จีนได้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงตัดผ่านพรมแดนบนแผ่นดินและชายฝั่งทะเล จึงสามารถเชื่อมท่าเรือระหว่างประเทศแห่งต่างๆเข้ากับมณฑลต่างๆในตอนในของแผ่นดิน นอกไปจากนี้ยังกำลังเร่งความร่วมมือระหว่างจีนกับกลุ่มชาติสมาชิกในอาเซียน” นาย ซุน จาง ผู้เชี่ยวชาญด้านขชนส่งมวลชน และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยถงจี้ ณ นครเซี่ยงไฮ้ บอกกับสื่อจีน โกลบอล ไทม์ส
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญยังชี้อีกว่า ระบบรถไฟความเร็วสูงที่ทรงประสิทธิภาพของจีนจะมีบทบาทสำคัญช่วยให้บรรลุเป้าหมายความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือชื่อย่อ BRI (Belt and Road Initiative) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (Regional Comprehensive Economic Partnership /RCEP) ในอนาคต
ในปี 2022 นี้ จีนมีแผนเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่มีอัตราเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพิ่มอีกประมาณ 7 สาย
การรถไฟจีน (China State Railway Group) ยังเผยอีกว่า ภายในปี 2035 จะมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงทั้งสิ้น 70,000 กิโลเมตร
ข้อมูลปี 2019 ระบุว่าเครือข่ายทางรถไฟความเร็วสูงในจีน มีผู้โดยสารใช้บริการ ราว 6.5 ล้านคน/เที่ยว/วัน เทียบกับปี 2008 ตัวเลขผู้โดยสารที่ใช้รถไฟความเร็วสูง มีจำนวนเพียง 350,000 คน/เที่ยว/วัน
ปัจจุบันเครือข่ายทางรถไฟทั้งหมดในประเทศจีนมีความยาวรวมกว่า 150,000 กิโลเมตร
จีนได้กลายเป็นประเทศที่มีเครือข่ายทางรถไฟความเร็วสูงที่มีความยาวมากกว่าประเทศใดๆในโลก โดยคิดเป็นสัดส่วน 70 เปอร์เซนต์ของทางรถไฟความเร็วสูงทั้งหมดของโลก
การพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนให้สามารถวิ่งฝ่าทะลุทะลวงเขตต่างๆของประเทศได้นั้น มิใช่เรื่องง่ายเลย ด้วยประเทศจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ ชาวเบลเยี่ยมคนหนึ่งกล่าวว่าจีนเป็นทวีปมากกว่าประเทศ มีภูมิประเทศหลากหลาย ทั้งเทือกเขาสูง ทะเลทราย เขตสภาพอากาศสุดขั้ว
ในที่สุดพญามังกรก็ทำได้ “งูเหล็กจ้าวความเร็ว” จีนสามารถบุกฝ่าพื้นที่ในเงื่อนไขสภาพอากาศ และภูมิประเทศต่างๆ อีกทั้งได้ทำสถิติโลกหลายด้าน เช่น
- เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายฮาร์บิน-ต้าเหลียน ทอดผ่านพื้นที่เยือกแข็ง (permafrost) ที่อุณหภูมิต่ำสุด -40 องศาเซสเซียสในช่วงฤดูหนาว ส่วนต่างของอุณหภูมิสูงสุด เกิน 80 องศาเซลเซียส
- เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-กว่างโจว เป็นเส้นทางสายหลักที่ยาวที่สุดในโลก 2,281 กม. ของแนวระเบียงเหนือ-ใต้ ทอดผ่านเขตสภาพอากาศหลากหลายและพื้นที่ที่เงื่อนไขธรณีวิทยาหลากหลาย
- เส้นทางรถไฟความเร็วสูงหลันโจว-อูลู่มู่ฉี ตัดผ่านทะเลทรายโกบี เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายยาวที่สุดในโลก ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในเฟสเดียว ในเขตพื้นที่ทะเลทรายที่สภาพอากาศลมแรง
เส้นทางรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ทำสถิติเป็นทางรถไฟไฮสปีดสายยาวที่สุดที่สร้างด้วยมาตรฐานสูงสุดในโลก แล้วเสร็จในเฟสเดียว