สิ้นยุคนายกรัฐมนตรีหญิงแกร่ง อังเกลา แมร์เคิล ที่กุมบังเหียนเยอรมนีมานาน 16 ปี โลกกำลังจับตามองว่า ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเมืองเบียร์ กับแดนมังกร จะยังคงอยู่ต่อไปหรือไม่
ในสายตาของนักการทูตและนักวิเคราะห์หลายคนนั้น นาย โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ อยากกอดจีนไว้แน่น ๆ เพื่อให้บริษัทนักลงทุนสัญชาติเยอรมันเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในตลาดของพญามังกรนาน ๆ ทว่านโยบาย “เยอรมนีต้องมาก่อน” ก็เสี่ยงทำให้ชาติพันธมิตรสำคัญอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป หรือ อียู ซึ่งเยอรมนีมีฐานะเป็นพี่ใหญ่เคืองขุ่นได้
บทบาทนิยมจีนในอดีต
ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของฮัมบวร์ค เมืองท่า ซึ่งประกาศตัวว่า เป็น “ประตูสู่ยุโรปของจีน” นายโชลซ์ได้ชักชวนบริษัทจีนหลายร้อยรายเข้ามาลงทุนที่นี่ เฟื่องฟูถึงขนาดที่บริษัท คอสโค ธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลยักษ์ใหญ่ของจีนกำลังพยายามเข้าถือหุ้นร้อยละ 35 ในกิจการท่าเรือขณะนี้ เนื่องจากเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าไปจีน
นายโชลซ์ยังผูกไมตรีเป็นการส่วนตัวกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดยได้พบกัน ระหว่างการประชุมผู้นำกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ (G7) เมื่อปี 2560
ครั้นเมื่อนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง นายโชลซ์ได้เชื้อเชิญรองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ ร่วมเวทีเสวนา “ฮัมบวร์ค ซัมมิต” ในปี 2561 และตัวเขาเองยังไปเยือนจีนในปีถัดมา ทำให้ถูกวิจารณ์ในเยอรมนีว่า ไม่สนใจปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน
สี จิ้นผิง รีบแสดงความยินดี
หลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 เสร็จสิ้นได้เพียงไม่กี่นาที ประธานาธิบดี สี ก็มีสารแสดงความยินดีในทันที ยกย่องความสัมพันธ์ ระหว่างปักกิ่งกับเบอร์ลินว่า มีความสำคัญอย่างมาก และเรียกร้องให้เยอรมนีสานต่อนโยบาย “win- win” ของนายกรัฐมนตรีแมร์เคิล
นโยบายนี้เป็นวิธีการทูต ที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทำให้บริษัทเยอรมัน เช่น โฟล์คสวาเกน, บีเอ็มดับเบิ้ลยู และบีเอเอสเอฟ – บริษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ เก็บเกี่ยวผลกำไรมหาศาล และเปิดทางให้จีนกลายเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ด้วยมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้า 213,000 ล้านยูโรต่อปี
ขวากหนามความสัมพันธ์
ในการประชุมออนไลน์กับประธานาธิบดี สี นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนีเรียกร้องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ที่ลึกซึ้งมากขึ้นกับจีน และการรื้อฟื้นข้อตกลงการลงทุนอียู-จีน ให้เร็วที่สุด หลังจากข้อตกลงฉบับนี้ถูกระงับไป ด้วยข้อกล่าวหาจีนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมอุยกูร์ ในซินเจียง และจีนตอบโต้การคว่ำบาตรของอียู ด้วยการคว่ำบาตรนักการเมือง, หน่วยงานองค์กรทางการทูตและการศึกษาวิจัย ในกรุงบรัสเซลส์ โดยระบุว่า เป็นข้อกล่าวหาไร้สาระ ที่สหรัฐฯ และชาติอื่นๆ ปั้นแต่ง
บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การโอบอุ้มข้อตกลงการลงทุนอียู-จีน ของนายโชลซ์ เสี่ยงเกิดความแตกแยกในรัฐบาลผสมใหม่ถอดด้ามของเขา โดยนางอันนาเลนา แบร์บ็อค ซึ่งร่วมเป็นหัวหน้าของพรรคกรีนส์ และได้เก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศ เล่นบทสายเหยี่ยวกับปักกิ่งมากขึ้น นอกจากนั้น ยังเสี่ยงทำให้เบอร์ลินถูกยุโรปโดดเดี่ยว
ดีดี้ แท็ตโลว์ (Didi Tatlow) นักวิชาการอาวุโสประจำสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเยอรมนี ระบุว่า วิธีการเข้าหาจีนของแมร์เคิล ทำอย่างนักทุนนิยม เน้นการปฏิบัติ และเอาธุรกิจนำหน้า ถือเป็นนโยบาย “เยอรมนีต้องมาก่อน”อย่างแท้จริง และอยู่ภายในบริบทของอียู แต่นายโชลซ์ อาจถูกบังคับให้ต้องเล่นบทยาก ไม่เฉพาะแค่แรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาล แต่จากสหรัฐฯอีกด้วย
ขณะนี้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน กำลังประสานความร่วมมือในหมู่พันธมิตร ตอบโต้จีนหนักข้อขึ้น ทั้งเรื่องข้อกล่าวหาการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา, การละเมิดสิทธิมนุษยชน,การข่มขู่ไต้หวันและลิทัวเนีย
แต่ความผูกพันสนิทสนมระหว่างจีนกับเยอรมนี ก็ใช่ว่า เยอรมนีจะยอมให้บีบง่าย ๆ
บริษัทของเยอรมนีมากมาย ที่ทำธุรกิจในจีน เตือนว่า การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับจีน จะก่อความเสียหายอย่างมาก
นาย ชาร์ลส์ พาร์ตัน (Charles Parton) อดีตนักการทูตอังกฤษประจำจีน และนักวิชาการอาวุโสของ Royal United Services Institute เตือนว่า บริษัทเยอรมันจะตกเป็นเป้าหมายถูกกดดันจากจีนอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่นายโชลซ์กลัว แต่ถึงกระนั้น การไม่ยืนหยัดรักษาค่านิยมของตะวันตกจะก่อความเสียหายใหญ่หลวงกว่าการสูญเสียด้านธุรกิจชั่วครั้งชั่วคราว
จากมุมมองของนักวิเคราะห์เหล่านี้ การดำเนินความสัมพันธ์อย่างสมดุลทั้งกับจีน และกับฝ่ายตะวันตก หรือจีนจะได้ซดฟองเบียร์อย่างเอร็ดอร่อยต่อไปไหม จึงเป็นโจทย์ยากสำหรับนายโชลซ์ และจะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า กระดูกของเขาแข็งเท่าแมร์เคิลหรือไม่
ข้อมูลจาก “Olaf Scholz hugs China close — but 'Germany first' policy risks US and EU wrath” ในหนังสือพิมพ์ เดอะเทเลกราฟ