xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : ถอดรหัส ‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ คืออะไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’  ของจีนคือ  ให้คนกลุ่มหนึ่งรวยขึ้นมาก่อนแล้วคนที่รวยขึ้นมาแล้ว ต้องหันมาช่วยเหลือคนอื่นๆให้รวยตามกันขึ้นมา (แฟ้มภาพ รอยเตอร์)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ(UIBE) วิทยาลัยนานาชาติ(SIE) กรุงปักกิ่ง

‘共同富裕’ อ่านว่า ก้งถงฟู่อี้ว์ แปลเป็นไทยได้ว่า ‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ เหมือนจะเป็นวลีฮิตของจีนในช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา โดยวลีนี้จริงๆแล้วเป็นหลักการปกครองและแนวทางเศรษฐกิจของสังคมนิยมแบบจีนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งแต่ปี 1955 โดยเติ้งเสี่ยวผิง และในปี 2021 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้หยิบยกแนวคิดของวลีนี้ขึ้นผลักดัน 


คำจำกัดความดั้งเดิมของ ‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ ของจีน “ไม่ใช่การร่ำรวยพร้อมกัน ไม่ใช่การร่ำรวยในเวลาเดียวกัน และไม่ใช่การร่ำรวยที่เท่าเทียมกันทุกอย่าง”  คือ ต้องยอมที่จะให้คนกลุ่มหนึ่งรวยขึ้นมาก่อนแล้วคนที่รวยขึ้นมาแล้ว ต้องหันมาช่วยเหลือคนอื่นๆให้รวยตามกันขึ้นมา ‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ คือเป้าหมายหลักของสังคมนิยมและเป็นหลักการของการดำเนินเศรษฐกิจจีน


ในปี 2021 จีนวางแผนให้มณฑลเจ้อเจียงเป็นพื้นที่นำร่องในการผลักดันและพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันเพราะที่มณฑลเจ้อเจียง มีความพร้อมทางเศรษฐกิจในหลายๆด้าน เป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจสำคัญของจีนแห่งหนึ่ง ขึ้นชื่อทางด้านอีคอมเมิร์ซและการผลิต การค้าปลีกส่งออกสินค้าต่างๆไปสู่ต่างประเทศ ด้านการเกษตรและธุรกิจบริการอื่นๆก็แข็งแกร่งเช่นกัน

ภาพกราฟิกแสดงกลุ่มคนรายได้ปานกลาง ให้บันได (เปิดโอกาส)กลุ่มคนรายได้ต่ำได้ก้าวขึ้นมา (แฟ้มภาพจากสื่อจีน Sina.com)
จากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปรัฐบาลจีนก็ต้องมานั่งถกและวิเคราะห์กันถึงแนวทางยุคใหม่ว่าจะทำยังไงให้สังคมและเศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน ในการประชุมด้านเศรษฐกิจระดับชาติปีนี้ได้กล่าวถึงประเด็นความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันโดยเฉพาะ โดยมีสามประเด็นหลักที่ต้องยึดถือให้ดีได้แก่

- การที่คนในประเทศจะเกิดความเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกันได้นั้น ไม่ใช่แค่ด้านวัตถุต้องเจริญรุ่งเรืองเท่านั้น ด้านจิตใจต้องเจริญรุ่งเรืองตามไปด้วย ทั้งสองอย่างต้องไปด้วยกัน การเจริญรุ่งเรืองร่วมกันก็ไม่ใช่ว่าจะกลับไปสู่ยุคความเท่าเทียมในทุกๆด้าน ทุกคนรวยจนเท่ากันทุกระเบียดนิ้วซึ่งเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน

- การที่ให้คนกลุ่มหนึ่งรวยขึ้นมาก่อนไม่ใช่การ “杀富济贫” อ่านว่า ซาฟู่จี้ผิน หมายถึง ‘ฆ่าคนรวยไปช่วยคนจน’ แต่ต้องพยายามให้คนรวยมีความคิด กระตุ้นการช่วยเหลือสังคมมากขึ้น หยิบยื่นโอกาสให้กับสังคมและกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสกว่า โดยต้องทำให้ประชาชนในประเทศอย่างน้อยได้รับโอกาสด้านการศึกษาเท่ากัน โอกาสการเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลเท่ากันและการเข้าถึงโอกาสอื่นๆต้องเท่ากัน

ในเรื่องพื้นฐานสังคมต้องมีความเท่าเทียม ความเท่าเทียมด้านกฎหมายและระเบียบของคนในประเทศต้องเท่ากัน (ในประเด็นนี้ผู้เขียนจะขอขยายความที่น่าสนใจ) และจีนยังเน้นย้ำเรื่องของ “第三次分配” อ่านว่า ตี้ซานซี่เฟินเพ้ย แปลตรงตัวคือ การจัดระบบแจกในขั้นตอนที่สาม นั่นหมายถึงรัฐบาลจะเข้ามาจัดการบริจาคและนำเงินเข้าสู่สังคมที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างตรงจุด การบริจาคเงินจะเป็นระบบมากขึ้นและจะมีการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและอื่นๆแก่คนหรือนิติบุคคลที่บริจาคทรัพย์ให้สังคม ตรงนี้เพื่อกระตุ้นให้คนรวยในสังคมจีนทำ CSR กันเพิ่มมากขึ้นนั้นเอง

- เป้าหมายนี้ไม่ใช่เป้าหมายระยะสั้นที่จะประสบความสำเร็จทันที ต้องใช้เวลาและมีความยาก ความซับซ้อนในตัวมันอยู่ จีนกำลังจะต้องขึ้นไปสู่ประเทศพัฒนารายได้สูง เพราะฉะนั้นต้องหลุดจากกับดักประเทศกำลังพัฒนานี้ให้ได้


แล้วในแง่ของการปฏิบัติให้เป็นจริงหละจะเป็นอย่างไร? จากที่ผู้เขียนได้อ่านข้อมูลจากหลายสำนักพบว่า หลักการการเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกันมีการถูกหยิบยกออกมากล่าวถึงกันมาก แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นของหลักการแต่การปฎิบัติให้เป็นรูปธรรมจะออกมาในแนวทางไหนกันบ้างก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงและวิเคราะห์กันอยู่ ที่แน่ๆในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นมามีข่าวหลายประเด็นของจีนที่น่าจับตาเพราะเชื่อมโยงไปถึงนโยบายหัวใจที่จะไปถึงการเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน

ในการผลักดัน ‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’  งานแรกที่จีนทำคือจัดการกลุ่มธุรกิจที่ผูกขาดตลาด เช่น เครืออาลีบาบา เทนเซนต์ ที่ถูกปรับเงินและตรวจสอบกันระนาว
เรื่องแรกคือการจัดการกลุ่มธุรกิจที่ผูกขาดตลาด ขอยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจในเครืออาลีบาบา เทนเซนต์ ที่ถูกปรับเงินและตรวจสอบกันระนาว อย่างเช่น แอนท์กรุ๊ป หรืออาลีเพย์ ก็ถูกสกัดการเข้าตลาดหลักทรัพย์สาเหตุเพราะเป็นธุรกิจการเงินดิจิทัลแทบจะผูกขาดตลาดไปแล้วในจีน อีกทั้งการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของแอนท์กรุ๊ปจะทำให้กลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่มีศักยภาพอยู่แล้วผูกขาดผลประโยชน์อยู่แล้วจะได้ประโยชน์และร่ำรวยขึ้นไปอีก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในโลกธุรกิจมากไปอีก บิดเบี้ยวไปอีก การทำโทษพฤติกรรมผูกขาดของแพลตฟอร์มออนไลน์ชอปปิ้งต่างๆ การลงมาเล่นตลาดล่างแย่งลูกค้าร้านรวงรายเล็กรายน้อยไปยันตลาดสดทำให้ร้านค้าออฟไลน์ขายของยากขึ้นไปอีก การลงดาบธุรกิจผูกขาดพวกนี้ก็เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจและสังคมเกิดความเท่าเทียมและให้โอกาสปลาเล็กปลาน้อยได้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง


ต่อมาคือแผนการที่จะจัดเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์และภาษีธุรกิจหุ้น ตรงนี้ก็ทำให้พวกมีธุรกิจเยอะๆและพวกที่มีบ้านหลายหลังหนาวๆร้อนๆไปตามกัน ถึงแม้ว่าจะมีบางเมืองที่เริ่มทดลองนโยบายเก็บภาษีนี้กันไปแล้ว แต่ในระดับประเทศยังไม่มีนโยบายที่ฟันธงออกมาอย่างชัดเจนนัก แต่คาดว่าไม่ช้าก็เร็ว เรื่องของการแบนโรงเรียนกวดวิชาก็เช่นกัน ก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการศึกษาของเด็กจีนรุ่นใหม่

จีนเช็คบิลภาษีกลุ่มรายได้สูงระฟ้าส่งท้ายปี 2021 โดยปรับเจ้าแม่ไลฟ์สด เวยย่า เป็นเงิน 1,340 ล้านหยวน หรือกว่า 7 พันล้านบาท โทษฐานเลี่ยงชำระภาษี
อีกประเด็นคือการจัดระเบียบกลุ่มคนรายได้สูง ระดับหัวปิระมิดของประเทศอย่างพวกรายได้สูงกลุ่มดารา นักร้อง ที่รายได้สูงลิ่วแต่ไม่ได้ทำประโยชน์ที่เป็นชิ้นเป็นอันให้ประเทศมากนัก แถมยังหนีภาษีกัน ซึ่งมาถึงปัจจุบันก็มีดารานักแสดงดังหลายรายแล้วที่ถูกปรับเงิน

ขณะนี้ก็มาเริ่มจัดระเบียบกับพวกกลุ่มธุรกิจอีคอมเมริรซรวมทั้งกลุ่มอาชีพใหม่ที่กำลังมาแรงคือ ไลฟ์สดมืออาชีพ เช่น กรณีเจ้าแม่ไลฟ์ขายสินค้า ‘เวยย่า’ ถูกปรับเงินอย่างมหาศาลโทษฐานหนีภาษี ขณะนี้หลายแพลตฟอร์มของเวยย่าที่ใช้ทำงานก็ถูกปิด เรื่องราวของเวยย่ายังตามมาด้วยการเปิดโปงข้อมูลเกี่ยวกับความร่ำรวยอู้ฟู่ของเธอและสามี ว่ากันว่าจีนกำลังจะเข้าไปจัดการธุรกิจออนไลน์อย่างจริงจังในเรื่องของโครงสร้างและระบบของภาษี คนจนและชนชั้นกลางส่วนใหญ่ในจีนใช้จ่ายเงินจากรายได้หลังหักภาษีแล้ว แต่คนรวยจะใช้จ่ายเงินก่อนหักภาษีด้วยวิธีการจัดตั้งบริษัทและใช้จ่ายเงินผ่านบริษัทแถมยังมีวิธีการเลี่ยงภาษีในแบบที่แตกต่างกันอีก

(แฟ้มภาภพจาก ไชน่า เดลี)
สุดท้ายแล้วผู้เขียนมองว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความเด็ดขาดและความตั้งใจของจีนที่จะนำพาประเทศและเศรษฐกิจไปสู่เป้าหมายการเจริญรุ่งเรืองด้วยกัน หากเราลองพิจารณาแต่ละประเด็นที่จีนเข้ามาจัดการในช่วงนี้จะทราบได้ว่าเชื่อมโยงกับเรื่องของการบรรลุเป้าหมายทั้งสิ้น และจากการลงโทษกลุ่มคนที่มีอิทธิพลในสังคมก็ถือว่าเป็นวิธีที่ดี ที่จะให้สังคมเข้าร่องรอย ทำไม่ดีไม่ถูกต้องก็ถูกลงโทษเพราะบ้านเมืองมีกฎหมายและบรรทัดฐานที่ทุกคนในประเทศต้องปฎิบัติอย่างเท่าเทียม ก็เสมือนกับคำกล่าวที่ว่า เชือดไก่ให้ลิงดู


กำลังโหลดความคิดเห็น