xs
xsm
sm
md
lg

ผลไม้เมืองร้อน “พรีเมียม” ความคลั่งไคล้ใม่มีวันสิ้นสุดของจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มะม่วงเป็นผลไม้ ที่เกษตรกรของกัมพูชาภาคภูมิใจ
จีนคลั่งไคล้ผลไม้เมืองร้อนรสชาติอร่อยจากชาติอาเซียนมานานแล้ว และความต้องการผลไม้คุณภาพสูง หรือผลไม้พรีเมียม จากชาติเหล่านี้ นับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น


ความบ้าคลั่งมะม่วง

เทรดเดอร์รายหนึ่งระบุว่า มะม่วงเป็นผลไม้ ที่คนจีนชอบรับประทานมากที่สุดอย่างหนึ่ง ทำให้ยอดการนำเข้ามะม่วงในแต่ละปี ทั้งชนิดสดและแปรรูป เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปี ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 5 เท่า ระหว่างปี 2562-2563

จากรายงานการทบทวนด้านการตลาดปี 2563 ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จีนมีการนำเข้ามะม่วง จำนวน 84,000 ตันในปีที่แล้ว ซึ่งร้อยละ 80 มาจากเวียดนาม โดยมะม่วงที่เวียดนามส่งออกส่วนใหญ่นั้น ปลูกในกัมพูชา ซึ่งมีมะม่วงขึ้นชื่อเรื่องความหวานอร่อยคือ มะม่วงพันธุ์แก้วละเมียด (Keo Romeat) เป็นสายพันธุ์เขมรแท้ หรือที่คนไทยเรียกกันว่ามะม่วงแก้วขมิ้น  เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งมีพรมแดนติดกัน เป็นแหล่งนำเข้าใหญ่ มีทั้งมะม่วงนำเข้า ที่ผ่านพิธีการศุลกากร และที่ลักลอบนำเข้าหนีภาษี จากนั้นจะมีการขนส่งทางบกไปขายทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้ามะม่วงในจีนปีนี้ลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน และความต้องการของผู้บริโภค ที่ชะลอลง


ธุรกิจผลไม้


ตัวเลขการนำเข้ามะม่วงของจีนสะท้อนถึงความต้องการผลไม้จากทั่วเอเชีย ที่กำลังเพื่องฟู ในประเทศ  โดย “Tridge” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจัดหาสินค้าเกษตรระบุว่า ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกอย่างจีน สั่งซื้อผลไม้จากต่างประเทศในช่วงครึ้งแรกของปี 2564 เป็นมูลค่าถึง 172,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า โดยในบรรดาชาติอาเซียน ไทยเป็นชาติผู้ส่งออกผลไม้ รวมทั้งทุเรียนไปยังจีนมากที่สุดในปีที่แล้ว  มีมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลไทยระบุว่า เป็นผลมาจากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี จีน-อาเซียน และข้อตกลงทวิภาคี ที่ไทยทำกับจีน

คนงานในกัมพูชาบรรจุมะม่วงในลัง เพื่อส่งขาย
ขณะที่มาเลเซียเองก็กำลังพยายามบุกตลาดผลไม้บนแดนมังกร ส่วนยอดส่งออกผลไม้ ซึ่งรวมทั้งลำไยและกล้วยหอม ไปยังจีน โดยเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในปีที่แล้ว จากข้อมูลของสำนักงานศุลกากรจีน

Jinwoo Cheon นักวิเคราะห์การตลาดของบริษัท Tridge ระบุว่า จีนมีความต้องการซื้อผลไม้เมืองร้อนในระดับที่สูงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะไม่มีผลไม้รสชาติถูกปากจากที่อื่นใดมาทดแทนได้

 ความต้องการพุ่งกระฉูดในเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง โดยคนชั้นกลางฐานะดี และคนที่มีรายได้มากขึ้น มองว่า ผลไม้เหล่านี้มีคุณภาพสูง เนื่องจากมีเอกลักษณ์เฉพาะ เช่นทุเรียน แม้มีการปลูกในจีน ก็ยังสู้ไม่ได้ ส่วนผลไม้เมืองร้อน ที่นิยมรับประทานกัน เช่น มังคุด ก็เข้ามาขายในจีนในฐานะสินค้าทางเลือกสำหรับผู้บริโภค

ด้วยเหตุนี้เอง จีนจึงเป็นชาติผู้นำเข้ามะม่วง, มังคุด และฝรั่งมาก เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ ราว 380,000 ตันในปี 2563 ความนิยมผลไม้จากอาเซียนยังเป็นปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นในเกาหลีและญี่ปุ่นอีกด้วย

ในรายงานเมื่อปี 2562 ของศูนย์ธุรกิจเอสเอ็มอีสหภาพยุโรป (EU SME Centre)ในกรุงปักกิ่ง ระบุว่า ผู้บริโภค ที่มีฐานะร่ำรวยในจีนใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตกมากขึ้น และต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพตามแบบตะวันตก

“แมกคินซีย์” (McKinsey) บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจชั้นนำของโลก ระบุในรายงานพฤติกรรมผู้บริโภคของจีนปีนี้ว่า การสั่งซื้อสินค้าประเภทอาหารเพื่อสุขภาพออนไลน์พุ่งขึ้น ในช่วงโควิด19 ระบาด

รสชาติผลไม้ ที่มีเอกลักษณ์ ความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพ และพฤติกรรมผู้บริโภคจีน ที่นิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ตลอดจนนโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ให้คำมั่นว่าจะนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียนมูลค่า 150,000 ล้านดอลลารสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ทำให้การส่งออกผลไม้เมืองร้อนมีอนาคตสดใสอย่างแน่นอน

ข้อมูลจาก “ China looks to Asean nations to meet demand for ‘premium’ tropical fruit” ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์


กำลังโหลดความคิดเห็น