รอยเตอร์ - มหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง (HKU) ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ดำเนินการรื้อถอนรูปปั้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์นองเลือดที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ออกไปจากภายในบริเวณมหาวิทยาลัยแล้ว ท่ามกลางเสียงประณามจากฝ่ายผู้เรียกร้องประชาธิปไตย
"เสาแห่งความอัปยศ" (Pillar of Shame) ซึ่งเป็นผลงานประติมากรรมร่างของมนุษย์ ที่ก่ายกองกัน มีใบหน้าแสดงถึงความเจ็บปวดทรมาณ ตั้งแสดงที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มานานกว่า 2 ทศวรรษ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่งเมื่อปีพ.ศ. 2532 และเป็นอนุสรณ์สถาน ที่ยังคงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งบนดินแดนอดีตอาณานิคมของอังกฤษแห่งนี้ สำหรับให้ประชาชนได้จดจำการกวาดล้างนองเลือดครั้งนั้น ในขณะที่การรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งต้องห้ามบนแผ่นดินใหญ่
งานศิลปะชิ้นดังกล่าวยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเสรีภาพ ที่สัญญากันไว้ว่า จะมอบให้แก่เกาะฮ่องกง เมื่อกลับคืนสู่การปกครองของจีนในปี 2540 โดยผู้คนในเมืองศูนย์กลางการเงินระดับโลกแห่งนี้จะได้รับเสรีภาพอย่างกว้างขวาง แตกต่างจากชาวจีนบนแผ่นดินใหญ่
อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ของสภามหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกงระบุว่า มีการตัดสินใจให้รื้อถอนระหว่างการประชุมกันเมื่อวันพุธ ที่่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำด้านกฎหมายจากภายนอก และจากการประเมินความเสี่ยง เพื่อประโยชน์สูงสุดของมหาวิทยาลัย โดยทางสภามหาวิทยาลัยได้ขอให้นำรูปปั้นชิ้นนี้ไปไว้ยังที่จัดเก็บ และมหาวิทยาลัยควรแสวงหาข้อแนะนำทางกฎหมาย เพื่อความเหมาะสมในการดำเนินการ ภายหลังจากนี้ต่อไป
การรื่้อถอนเริ่มขึ้นกลางดึกคืนวันพุธ เจ้าหน้าที่ได้วางแนวกั้นรอบรูปประติมากรรมทองแดงสูง 8 เมตร และหนัก 2 ตัน ซึ่ง
ห่อหุ้มด้วยผ้าพลาสติกสีขาว ก่อนลงมือรื้อถอน ท่ามกลางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่อยู่รอบบริเวณหลายสิบคน
ด้านนาย เยนส์ กัลชูต์ ประติมากรชาวเดนมาร์ก ผู้สร้างผลงานศิลปะชิ้นนี้ระบุในแถลงการณ์ว่า เขารู้สึกช็อก และจะร้องเรียกค่าชดเชย สำหรับความเสียหายใดๆ ก็ตาม ที่เกิดกับรูปปั้น ซึ่งถือเป็นสมบัติส่วนตัวของเขา และมีมูลค่าราว 1 ล้าน 4 แสนดอลลาร์
สำหรับผู้ดูแล "เสาแห่งความอัปยศ" เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับกลุุ่มพิพิธภัณฑ์ 4 มิถุนายน ซึ่งจัดพิธีจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ในวันที่ 4 มิ.ย.ของทุกปี แต่กลุ่มได้ถูกยุบไป หลังจากถูกทางการสอบสวนภายใต้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ที่ปักกิ่งบังคับใช้กับฮ่องกง ทางสภามหาวิทยาลัยยังระบุด้วยว่า มีการนำรูปปั้นมาตั้งภายในบริเวณมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้รับอนุญาต และทางสภามหาวิทยาลัยได้ส่งเอกสารทางกฏหมาย เพื่อแจ้งเรื่องการรื้อถอนกับกลุ่มดังกล่าวมาแล้วหลายเดือน ก่อนลงมือดำเนินการ
นาย หวัง ตัน ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์กวาดล้าง และปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก โดยประณามการรื้อถอนครั้งนี้ว่า "เป็นการพยายามลบประว้ติศาสตร์และความทรงจำ ซึ่งถูกเขียนด้วยเลือด"
จนถึงขณะนี้ ทางการจีนไม่เคยให้ข้อมูล ที่สมบูรณ์ครบถ้วน เกี่ยวกับเหตุการณ์ปราบปรามที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตตามที่ทางการระบุมีราว 300 คน แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนและผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่า อาจมีมากมายหลายพันคนก็เป็นได้