อวี๋หลิน, 18 ธ.ค. (ซินหัว) — “เหมาอูซู่” หนึ่งในทะเลทรายขนาดใหญ่ของจีน มีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่เมืองเอ้อเอ่อร์ตัวซือ เขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือ จนถึงเมืองอวี๋หลิน มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือ
ชื่อของทะเลทรายดังกล่าวมาจากภาษามองโกเลีย แปลว่า “น้ำไม่ดี” เนื่องจากทะเลทรายแห่งนี้ประกอบด้วยพื้นที่รกร้างกว้างใหญ่และน้ำเค็มด่าง ซึ่งนำไปสู่ความพยายามควบคุมทรายของทางการท้องถิ่นนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยมีชาวบ้านท้องถิ่นร่วมด้วยช่วยกัน
จางอิ้งหลง ประธานสมาคมคุ้มครองและก่อสร้างระบบนิเวศเมืองเสินมู่ กล่าวว่าตอนนั้นเขาตกใจที่ได้เห็นดินแดนแห้งแล้งกว้างใหญ่ โดยบ้านเกิดของเขามีฐานะยากจนมากจนเขารู้สึกว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องเปลี่ยนแปลงมัน
ทั้งนี้ พื้นที่ตอนเหนือของส่านซีมักมีฝนตกในช่วงฤดูร้อน และทรายจะสูญเสียความชุ่มชื้นอยู่เสมอ เนื่องจากเนินทรายมีการเคลื่อนตัว ส่วนความพยายามปลูกป่าก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คณะทำงานของจางจึงพัฒนาวิธีการทางวิทยาศาสตร์ด้านการจัดการทรายอย่างต่อเนื่อง
จางระบุว่าในพื้นที่ทดสอบแห่งนี้ คณะทำงานได้เฝ้าติดตามแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนที่ถูกใช้ในทรายเพื่อตรวจระดับการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์
“เครื่องมือนี้เป็นเครื่องตรวจวัดขนาด 30 เมตร ที่มีเซนเซอร์อยู่ข้างใต้ ส่วนกล่องใบนี้ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์และคอยเฝ้าติดตามการไหลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีการเก็บข้อมูลดังกล่าวด้วยคอมพิวเตอร์อย่างสม่ำเสมอ” จางกล่าว
หลังจากมีการบำบัดทรายอย่างต่อเนื่อง ฐานควบคุมทรายของจางมีอัตราความครอบคลุมของพืชพรรณเพิ่มขึ้นจากน้อยกว่าร้อยละ 3 เป็นราวร้อยละ 65 โดยมีพื้นที่ป่าปลูกรวมกันมากกว่า 26,600 เฮกตาร์ (ราว 166,250 ไร่)