วันที่ 9 ธ.ค. หน่วยงานจีนออกคำสั่งนำแอปพลิเคชัน 106 รายการออกจากแอปสโตร์จีน ในข้อหาละเมิดข้อมูลส่วนตัวและความปลอดภัย หนึ่งในนั้นรวมถึงแอปฯ ‘โต้วป้าน’ (Douban 豆瓣) แพลตฟอร์มพูดคุยแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมยอดฮิตของจีน
กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนเผยว่าการถอดถอนแอปพลิเคชันเหล่านี้เป็นผลจากมาตรการสอดส่องที่ดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนพ.ย.
แอปฯ ที่มีชื่ออยู่ในลิสต์ได้แก่ ‘ช่างปา’ (Changba 唱吧) แอปพลิเคชันร้องคาราโอเกะ, ‘อ้ายหุยโซว’ (AiHuiShou 爱回收) แอปฯ ที่เป็นพื้นที่ให้คนแลกเปลี่ยนซื้อขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว และอีกแอปฯ ที่คนให้ความสนใจมากก็คือ โต้วป้าน แฮชแท็กโต้วป้านถูกถอดขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งบนเวยปั๋วเมื่อวานนี้ (9 ธ.ค.) ทันที
ตามรายงานบอกว่าผู้ใช้เดิมของแอปพลิเคชั่นที่ถูกถอดยังสามารถใช้งานได้ต่อตามปกติ แต่ผู้ใช้งานใหม่จะไม่สามารถดาวน์โหลดแอปฯ จากแอปสโตร์ได้แล้ว
โต้วป้านถูกก่อตั้งในปี 2005 และเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้เพศหญิงมีการศึกษาตามหัวเมืองใหญ่ของจีนในการตั้งกระทู้พูดคุยสนทนา แอปฯ นี้ยังถือเป็นแหล่งรวมรีวิวหนังสือและภาพยนตร์ที่เชื่อถือได้อีกด้วย
ผู้คุมกฎโลกออนไลน์จีนลงดาบลงโทษโต้วป้านหลายครั้งในปีนี้ ช่วงเดือนม.ค. และพ.ย. ถูกปรับเป็นเงินกว่า 9 ล้านหยวน (ประมาณ 45 ล้านบาท) โดยไม่มีการเปิดเผยสาเหตุ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว บริษัทโต้วป้านถูกสำนักงานบริหารไซเบอร์จีนปรับอีกเป็นเงิน 1.5 ล้านหยวน (7.9 ล้านบาท) ในข้อหา “ปล่อยข้อมูลอย่างผิดกฎหมาย” และก่อนหน้านี้ยังโดนร่างแหจากมาตรการชิงหล่าง ถูกสั่งระงับฟังก์ชันที่ให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันคอมเมนต์หรือตอบกลับโพสต์ เป็นส่วนหนึ่งในวิธีจัดระเบียบวัฒนธรรมแฟนคลับของรัฐบาลจีน
บริษัทโต้วป้านมีพนักงานประมาณ 200 คน ช่วงปี 2006 ถึง 2011 ได้เงินสนับสนุนจากนักลงทุนถึง 59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,900 ล้านบาท) หนึ่งในผู้ร่วมลงทุน ได้แก่ บริษัท Sequoia Capital จากอเมริกา และ Bertelsmann กลุ่มธุรกิจประเภทสื่อสัญชาติเยอรมัน
โต้วป้านเริ่มร้อน ๆ หนาว ๆ เมื่อชาวเน็ตเพศชายที่มีใจรักชาติเริ่มเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นบนโลกออนไลน์ ไม่กี่เดือนมานี้ โต้วป้านทำการถอดรีวิวและปิดแชแนลเฟมินิสต์อย่างน้อย 8 ช่อง โดยไม่ให้เหตุผลใด ๆ
พนักงานจากโต้วป้านบอกกับสื่อญี่ปุ่น Nikkei Asia ว่า “โต้วป้านไม่มีกำลังคนพอจะทำการสอดส่องเนื้อหาเพื่อเซนเซอร์ทั้งแพลตฟอร์ม และทางแอปฯ เองก็ไม่อยากใช้การเซนเซอร์อย่างเข้มงวดเช่นกัน แต่ผลของการไม่เซนเซอร์คือต้องจ่ายค่าปรับราคาแพง ในประเทศจีนหนังสือ ภาพยนตร์ และเพลง ถูกมองว่าเป็นสื่ออันตรายมาก เพราะส่งอิทธิพลต่ออุดมการณ์ประชาชน”
ที่มา:
China kicks social network Douban out of app stores