สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการจีน รายงาน (26 พ.ย.) นายสวี เว่ยกั๋ว ศาสตราจารย์คณะสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยชิงหัว สร้างบ้านในหมู่บ้านอู่เจียจวง นครจางเจียโข่ว มณฑลเหอเป่ยด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
รายงานระบุว่า บ้านดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 106 ตารางเมตร มี 3 ห้องนอน 1 ห้องครัว และ 1 ห้องน้ำ โครงสร้างเพดานมีลักษณะโค้ง ขณะผนังด้านนอกตกแต่งด้วยลวดลายถักทอ
บ้านดังกล่าวใช้แรงงานกดปุ่มแค่ 2 คน เพื่อควบคุมให้แขนหุ่นยนต์สร้างวัสดุคอนกรีตขึ้นทีละชั้นเพื่อก่อฐานรากและผนังในจุดก่อสร้างก่อนใช้แม่แรงติดตั้งหลังคาที่แยกพิมพ์จนเสร็จแล้วลงไปบนผนัง โดยขั้นตอนการสร้างทั้งหมดนี้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 14 วัน
ในช่วงแรก ชาวหมู่บ้านต่างกังวลต่อความปลอดภัยของบ้านดังกล่าว อย่างไรก็ดี เมื่อบ้านสร้างเสร็จแล้วทุกคนก็สบายและทึ่งกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
สวีฯ กล่าวว่า “จีนยังสามารถสร้างบ้านและโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากได้ในอนาคต เทคโนโลยีอัจฉริยะจะสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานที่อุตสาหกรรมก่อสร้างต้องเผชิญและช่วยปลดเปลื้องภาระงานอันหนักหน่วงของเหล่าแรงงาน”
ตลาดการพิมพ์ 3 มิติของจีนเติบโตอย่างรวดเร็วตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงการบินและอวกาศ การก่อสร้าง รถยนต์ การขนส่ง และสาขาอื่นๆ นอกจากนั้นคณะผู้เชี่ยวชาญยังพยายามยกระดับการพิมพ์ 3 มิติขึ้นอีกขั้น ด้วยการสร้างบ้านพิมพ์ 3 มิติในหมู่บ้านแห่งต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตในชนบท
ทั้งนี้ จีนพยายามเปลี่ยนแปลงและยกระดับภาคการก่อสร้างแบบดั้งเดิม โดยหน่วยงานกลาง 13 แห่งเผยแพร่แนวปฏิบัติเมื่อเดือน ก.ค. 63 เพื่อขอให้มีการบูรณาการเทคโนโลยีก่อสร้างอัจฉริยะเข้ากับห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมด พร้อมกำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวสำหรับการพัฒนาคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมนี้