ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกูล
มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ(UIBE) วิทยาลัยนานาชาติ(SIE) กรุงปักกิ่ง
หนึ่งในข่าวด้านสังคมของจีนช่วงนี้ ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมากคือ เรื่องของการจัดการกับผู้ใช้แอพเสี่ยวหงชู (小红书) แปลตรงตัวว่าหนังสือแดง จะเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ที่จะออกมาโพสต์เรื่องราวอัพเดตชีวิตตัวเอง เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ และเป็นเน็ตไอดอลพร้อมรีวิวขายสินค้า เป็นต้น โดยในวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมาแพลตฟอร์เสี่ยวหงชูได้ประกาศข้อมูลของการดำเนินงานตามมาตรการ“ต่อต้านการอวดรวย” ตั้งแต่เดือนพ.ค.ถึงต.ค. เป็นต้นมา โดยมีโพสทั้งหมดที่เข้าข่าย 8,787 โพสต์ และมี 240 บัญชีที่ถูกระงับ และแพลตฟอร์มเสี่ยวหงชูยังใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงขึ้นไปอีกเพื่อคัด แยก จับตาพวกบัญชีที่ชอบโพสอวดรวย!
ต้องเกริ่นให้ท่านผู้อ่านทราบก่อนว่า ทำไมแพลตฟอร์มโซเซียลคอมมูนิตี้อย่างเสี่ยวหงชูถึงมีมาตรการต่อต้านการอวดรวยนี้ขึ้นมา ก็เพราะการตอบรับจากนโยบายรัฐบาลที่ออกมาช่วงกลางปีนี้ที่ว่า “清朗行动” อ่านว่า ฉิงหล่างสิงต้งหรือแปลเป็นไทยได้ว่า "มาตรการใสสะอาด"
มาตรการนี้ มีข้อกำหนดปฎิบัติหลายประการด้วยกัน ได้แก่ แก้ไขการทำลายล้างพวกให้ข้อมูลหลอกลวงบิดเบือนบนอินเทอร์เน็ต แก้ไขการใช้อัลกอริทึมในทางที่ผิด ปราบปรามการโจมตีด้านข้อมูลผ่านเครือข่าย การสร้างคลื่นข้อมูลให้สังคมไปในทางที่ผิด สร้างค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง การประชาสัมพันธ์ที่ผิดกฎหมาย แก้ไขสภาพแวดล้อมในอินเตอร์เน็ตของผู้เยาว์ กรองข่าวสารและข้อมูลในหน้าต่างป๊อปอัปในเว็บไซต์ สร้างมาตรฐานการทำงานของบัญชีเว็บไซต์ แก้ไขความบันเทิงออนไลน์และป้องกันความโกลาหลไฟเบอร์ ห้ามการจัดอันดับเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเช่น การจัดอันดับดารานักร้องต่าง ๆ เป็นต้น
เป้าหมายหนึ่งของรัฐบาลในปีนี้ก็คือการพยายามให้ค่านิยมสังคมเข้าร่องเข้ารอย พวกแฟนคลับดาราที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและอนาคตของชาติ อาจจะถูกชี้นำไปในทางที่ผิดได้ หากดารานักร้องเน็ตไอดอล เป็นตัวอย่างไม่ดีให้กับสังคม กล่าวคือแพลตฟอร์มเสี่ยวหงชูเองก็ได้น้อมรับแนวทางนโยบายและนำไปปฎิบัติให้เป็นรูปธรรมนั่นเอง
อย่างในแพลตฟอร์มเสี่ยวหงชู โพสต์อวดรวยเพื่อดึงดูดความสนใจก็จะเป็นการลงของแบรนด์เนมราคาสูงลิบมากมาย หรือการโพสต์เงินสดจำนวนมากลงโซเซียล บางโพสต์จะมีการให้ข้อมูลอายุว่ายังอายุน้อยแต่มีเงินจำนวนมาก ใช้รถหรู เป็นต้น
การโพสต์ข้อความลักษณะนี้ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้สังคมหนำซ้ำยังเป็นการชักนำค่านิยมสังคมไปในทางที่บิดเบี้ยวอีกด้วย
อ่านมาจนถึงตอนนี้อาจจะมีคำถามที่ว่าคนพวกนี้อวดรวยกันไปเพื่ออะไร? เหล่านี้ก็จากการที่โซเซียลแพลตฟอร์มต่าง ๆ พัฒนาอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง บล็อกเกอร์ทั้งหลายก็อยากที่จะมีคนติดตามมาก ๆ ยิ่งได้รับความสนใจมากเท่าใดยิ่งดีเท่านั้น
อีกอย่างพวกบล็อกเกอร์ที่ต้องการเพิ่มแฟนคลับอย่างรวดเร็วก็จะสร้างเนื้อหาที่เรียกร้องความสนใจ โดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของแบรนด์เนม ชีวิตที่หรูหราจะช่วยดึงดูดคนดูและแฟนคลับได้ดีนัก
แต่ทว่าเนื้อหาการอวดรวยในรูปแบบต่าง ๆ นี้ มักจะนำภัยมาสู่วัยรุ่นที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ยังไม่มีชุดความคิดเป็นของตัวเองและถูกชักจูงได้ง่าย
ดังนั้นข้อมูลภาพเสียงที่เป็นการอวยทรัพย์สิน ข้าวของเครื่องใช้แพง ๆ อาจจะทำให้ทัศนคติของวัยรุ่นผู้ติดตามฯ บิดเบี้ยว กลายเป็นบรรทัดฐานวัตถุนิยมที่ผิด ๆ ในสังคม เพราะวัยรุ่นจำนวนมากเสพสื่อพวกนี้บ่อย ๆ มีแนวโน้มที่จะตกหลุมพรางอยากได้อยากมี อย่างไม่รู้ตัวเอง คิดไปว่าการมีของฟุ่มเฟือยราคาแพงต่าง ๆ จะได้รับการยอมรับจากสังคม แสดงถึงฐานะทางสังคมอีกระดับ เกิดการเปรียบเทียบ อยากได้อยากมีต่อไปอีก และอาจจะสร้างความเดือดร้อนให้กับครอบครัวอีกเป็นต้น
สำหรับในกลุ่มผู้ใหญ่ เนื้อหาเกี่ยวกับการอวดรวยและการแข่งขันเกทับ ก็จะเกิดผลกระทบด้านลบอีก เช่น ตกเป็นทาสของวัตถุนิยม ซื้อของเกินตัวเกินความจำเป็น ไปจนกระทั่งการติดซื้อของแบรนด์เนมจนตัวเองติดกับดักหนี้ เป็นต้น
เนื้อหาที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อสังคมคือต้องสร้างพลังบวกและชักจูงสังคมไปในทางที่ถูกที่ควร ไม่ใช่เนื้อหาการอวยรวยที่จะทำให้สังคมเกิดการแบ่งแยก และคนที่มีศักยภาพไม่เพียงพอก็เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ สร้างทัศนคติด้านลบให้กับสังคม
ดังนั้นการที่แพลตฟอร์มของจีน ตัวอย่างเช่น เสี่ยวหงชูออกมาลงดาบกับบล็อกเกอร์และเนื้อหาไม่เหมาะสมพวกนี้ ก็เป็นการทำงานแบบถอนรากถอนโคน ให้กลุ่มพวกคนปั่นข้อมูล สร้างเนื้อหาด้านลบ ให้ไม่มีที่แสดงในโซเซียลได้อีก แต่จะสนับสนุนเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และสร้างพลังบวกให้สังคม
ทำไมข่าวของแพลตฟอร์มเสี่ยวหงชูจัดการกับพวกอวดรวยถึงได้รับความสนใจ เพราะว่าในแพลตฟอร์มนี้แด็กวัยรุ่นมากมายที่อายุไม่เกิน 25 ปีออกมาโพสต์อวดรถยนต์หรู อวดบ้าน อวดกระเป๋า อวดนาฬิกาหรู จนประชาชนหลายคนที่เข้าไปดูต่างคิดว่า ช่างโอเวอร์กว่าที่ชีวิตจริงตัวเองจะพบเจอมากนัก
เสี่ยวหงชู จึงเหมือนเป็นศูนย์รวมของมหาเศรษฐี จะดูไปตรงไหนก็เจอแต่โพสต์ของคนมีเงินมหาศาล บางคนถึงขนาดบอกว่าดูแล้วรู้สึกตัวเองด้อยค่าไปเลย
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ พยาบาลอายุ 24 ปี หลงค่านิยมการใช้ชีวิตหรูหรา แต่ละเดือนใช้เงินหลายหมื่นหยวนหรือหลักแสนบาทเพื่อประคองชีวิตที่หรูหราเอาไว้ จนต้องไปกู้เงินออนไลน์นอกระบบ สุดท้ายต้องหนีหนี้และถูกครอบครัวไล่ออกจากบ้าน นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของวัยรุ่นที่ถูกค่านิยมด้านวัตถุชักชวนผ่านโซเชียล จนใช้ชีวิตเกินเลย
แพลตฟอร์มเสี่ยวหงชู ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 ปัจจุบันมีผู้ใช้มากกว่า 220 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้ผู้ใช้เพศหญิงคิดเป็น 90% ของผู้ใช้ทั้งหมด จะว่าเป็นแพลตฟอร์มของผู้หญิงก็ว่าได้ และแพลตฟอร์มนี้ก็จะมีหัวข้อต่าง ๆ เป็นแฮชแท็ก อย่างเช่น รถยนต์ บ้าน รถ กระเป๋า ทำให้เกิดเป็นศูนย์รวมของการแชร์และการแนะนำชีวิต สินค้าแบรนด์เนม ข้าวของเครื่องใช้หรู ๆ เกิดขึ้น
มีผู้กล่าวถึงแพลตฟอร์มเสี่ยวหงชู ทำนองว่า “ผู้ใช้ 10 คน จะมี 8 คนที่มีกระเป๋าชาแนล 9 คนมีกระเป๋ากุชชี่ 9.5 คนมีกระเป๋าแอร์เมส ถ้าไม่เคยเข้าไปดูเสี่ยวหงชูจะไม่รู้เลยว่าผู้หญิงจีนร่ำรวยกันขนาดนี้”
สุดท้ายแล้ว ในสังคมเหลื่อมล้ำก็เป็นเรื่องปกติที่จะมีคนรวย คนชั้นกลางและคนจนอยู่ในสังคมเดียวกัน การที่คนที่รวยจริงก็มีสิทธิในการแชร์ถึงชีวิตที่หรูหราของตัวเอง แต่สำหรับคนที่ไม่รวยแล้วสร้างภาพหลอกคนอื่นในโซเซียลว่ารวย ใช้ชีวิตหรูหรา สร้างแฟนคลับจากสิ่งเหล่านี้ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่น่ายกย่องนัก
แนวทางที่จีนกำลังปราบปรามอยู่นี้ หลัก ๆ จึงเป็นการปิดกั้นบล็อกพวกข้อความอวดรวยที่หลอกลวงหรือเนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล่อหลอกให้สังคมสนใจหมกมุ่น ซึ่งยิ่งปล่อยจะยิ่งเยอะ ยิ่งสร้างบรรทัดฐานที่บิดเบี้ยวในสังคมมากขึ้นไปอีก