กลุ่มสื่อจีนรายงาน (17 พ.ย.) มหาวิทยาลัยชิงหัวร่วมกับโรงพยาบาลประชาชนเซินเจิ้นหมายเลข 3 และบริษัท Brii Biosciences พัฒนายารักษาโควิด-19 (SARS-CoV-2 therapy BRII-196/BRII-198) คาดได้รับอนุญาตให้ใช้ในประเทศเป็นรายแรกในเดือน ธ.ค. 64
รายงานระบุว่า ยาดังกล่าวเป็นการรักษาโดยใช้กลไกโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) โดยการใช้แอนติบอดีในยาเพื่อทำให้ไวรัสเป็นกลาง สามารถใช้รักษา โควิด-19 ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง หรือเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลังการสัมผัสได้
ปักกิ่งเดลี่ สื่อจีนรายงานว่า วิธีรักษาดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึงสายพันธุ์เดลต้า แลมบ์ดา และมิว
เมื่อปลายเดือน ส.ค. 64 บริษัท Brii Biosciences ประกาศว่า จากการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในสหรัฐอเมริกา บราซิล แอฟริกาใต้ เม็กซิโก อาร์เจนติน่า และฟิลิปปินส์ พบว่า ยาดังกล่าวสามารถลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและลดอัตราการเสียชีวิตได้ร้อยละ 78
บริษัทฯ ระบุว่า ยาข้างต้นมีแนวโน้มจะได้รับอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในสหรัฐฯ
ปัจจุบัน จีนใช้ยาดังกล่าวในผู้ป่วยมากกว่า 700 รายที่ติดเชื้อจากการระบาดครั้งล่าสุดในจีน
ทั้งนี้ นายติง เชิง คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหัวเตือนว่า แม้มีการพัฒนายารักาโควิด-19 สำเร็จแล้ว ก็ยังมีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนอยู่ เนื่องจากยาไม่สามารถแทนที่วัคซีนได้ แต่เป็นการเสริมกัน