ตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่ง (Beijing Stock Exchange) เริ่มทำการซื้อขายแล้วถือเป็นความก้าวหน้าครั้งหลักหมายในการปฏิรูปและการพัฒนาตลาดทุนในประเทศจีน โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สามของจีนแห่งนี้จะมุ่งช่วยกลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือSMEs พร้อมกับช่วยผลักดันวิสัยทัศน์ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ในการสร้าง ‘ความมั่งคั่งร่วมกัน’ (common prosperity) อีกทางหนึ่ง
บรรยากาศการซื้อขายที่ตลาดหุ้นน้องใหม่ของจีนในวันเปิดทำการวันแรก (15 พ.ย.) เป็นไปอย่างคึกคักด้วยหุ้นของกลุ่มบริษัท 10 รายที่เพิ่งเสนอขายแก่สาธารณะ (IPOs) เมื่อไม่นานมานี้ ดีดตัวขึ้นสูงถึง 6 เท่า
ในวันดีเดย์เปิดตลาดหุ้นปักกิ่งอย่างเป็นทางการ กลุ่มบริษัทที่เข้าเทรดมีจำนวนทั้งสิ้น 81 ราย
“ผลประกอบการในวันแรกถือว่าดีทีเดียว การเปิดตลาดหุ้นปักกิ่งเป็นความริเริ่มของท่านประธานาธิบดีสี ดังนั้นโอกาสที่ตลาดจะล้มเหลวนั้นมีน้อย” หยัง หงซุน นักวิเคราะห์ประจำบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน Shenguang กล่าว
การเปิดตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่งเป็นความริเริ่มของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่เพิ่งประกาศฯเมื่อสองเดือนที่แล้วโดยมุ่งเป้าหมายให้เป็นตลาดหลักของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs หรือกลุ่มบริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็ก
ขณะนี้จีนกำลังทุ่มเทสนับสนุนกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ผู้นำสีจิ้นผิงที่จะลดช่องว่างความมั่งคั่งและบรรลุ ‘ความมั่งคั่งร่วมกัน’ ของประชาชนทั้งแผ่นดิน
และการเปิดตลาดหุ้นปักกิ่งจะช่วยคลี่คลายปัญหาการเงินที่หมักหมมมายาวนานของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของจีน
อี้ฮุ่ยหมั่น ประธานคณะกรรมาธิการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์จีน กล่าวว่าการเปิดตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่งนับเป็นความก้าวหน้าใหญ่ของการปฏิรูปและการพัฒนาตลาดทุนในประเทศจีนซึ่งมีความสำคัญต่อหลายภาคส่วน เช่น ส่งเสริมตลาดทุนหลากหลายระดับ ปรับปรุงระบบการเงินของภาคSMEs กระตุ้นการสร้างนวัตกรรม ตลอดจนยกระดับระบบเศรษฐกิจจีน
ตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่งถือเป็นส่วนเสริมของตลาดหลักทรัพย์สองแห่งในจีนคือ ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ และตลาดหุ้นเซินเจิ้น
โดยขณะนี้มีกลุ่มนักลงทุนกว่าสี่ล้านราย ได้เปิดบัญชีค้าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่งซึ่งรับรองระบบ registration-based IPO
อนึ่ง ก่อนหน้านี้กระดานซื้อขายหุ้น ChiNext ในตลาดนครเซินเจิ้น และ กระดานซื้อขาย STAR Market (ซึ่งโฟกัสกลุ่มบริษัทเทค) ของตลาดเซี่ยงไฮ้ ได้นำระบบ registration-based IPO มาใช้
สำนักข่าวซินหัวระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งใหม่นี้เป็นการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศจีน (NEEQ) หรือที่รู้จักกันในชื่อตลาดหุ้นแห่งที่ 3 (New Third Board) โดยมีบทบาทที่แตกต่างออกไปจากตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น รวมถึงจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์สองแห่งนี้ด้วย
เมื่อวันศุกร์ (12 พ.ย.) ตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่งระบุว่า มีนักลงทุนรายใหม่กว่า 2.1 ล้านคนยื่นสมัครเป็นนักลงทุนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัตร (Qualified Investor) พร้อมเสริมว่าจำนวนนักลงทุนที่เข้าเงื่อนไขจะทะลุ 4 ล้านคนหลังตลาดเริ่มการซื้อขาย นอกจากนี้ยังเผยว่ามีบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้แล้ว 112 แห่ง
หลี่ ตงซี่ว์ กรรมการผู้จัดการบริษัทสินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์จีน (China Securities) กล่าวว่าบริษัทกลุ่มแรกที่เข้าเทรดในตลาดหุ้นปักกิ่งได้สะท้อนบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่งโดยเป็นตลาดซื้อขายแห่งหลักสำหรับธุรกิจเชิงนวัตกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และบริษัทกลุ่มแรกเหล่านี้ล้วนเป็นบริษัทชั้นนำในแต่ละภาคส่วนที่มีทั้งผลประกอบการที่ดีและศักยภาพการเติบโตสูง
บริษัทกลุ่มแรกที่ตบเท้าเข้าตลาดหุ้นนครหลวงจีนครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมหลากหลาย เช่น กลุ่มซอฟท์แวร์ กลุ่มผู้ผลิตยาเวชภัณฑ์ และการผลิตไฮ-เอน บริการเทคโนโลยีระดับสูง และอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่เพิ่งเกิดใหม่ โดยยอดใช้จ่ายเฉลี่ยในด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทเหล่านี้อยู่ที่มากกว่า 25.36 ล้านหยวน (ราว 130 ล้านบาท)
ก่อนหน้าการเปิดตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่ง จีนมีตลาดหลักทรัพย์สองแห่งคือ ตลาดเซินเจิ้น และตลาดเซี่ยงไฮ้ โดยตลาดทุนทั้งสองก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1990 หลังจากที่จีนดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศรับระบบตลาดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจแผ่นดินใหญ่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1970
ในตอนที่ผู้นำสูงสุดเติ้งเสี่ยวผิงออกมาประกาศนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศจีน ได้กล่าวอย่างเปิดเผยว่าต้องให้คนกลุ่มหนึ่งในประเทศมั่งคั่งขึ้นมาก่อน และกว่า 40 ปีของการพัฒนาเศรษฐกิจมังกรภายใต้นโยบายปฏิรูปฯของผู้นำเติ้ง ได้สร้างช่องว่างรายได้ในกลุ่มประชากรอย่างมาก