xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย &#MeToo จีน จากกรณี ‘เหยื่อเด็กฝึกงานถึงนักเทนนิส’ มีใครได้รับความยุติธรรมแล้วบ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่นานหลังจาก ‘เผิงไซว่’ (彭帅) ดาวเทนนิสจีนโพสต์เล่าว่าตนเองถูก ‘จางเกาลี่’ (张高丽) อดีตรองนายกรัฐมนตรีบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย โพสต์ของเธอก็ถูกลบไป ชื่อของเผิงไซว่และจางเกาลี่ หรือคีย์เวิร์ดสำคัญที่เกี่ยวข้องถูกบล็อกไปจนหมด บัญชีเวยปั๋วของเธอโดนระงับคอมเมนต์

แต่ไม่ได้หมายความว่าคนจะหยุดพูดถึงเรื่องนี้ ชาวเน็ตจีนเปลี่ยนมาใช้โค้ดลับ “จูเก๋อเลี่ยง” (诸葛亮 หรือคนไทยคุ้นว่าจูกัดเหลียงหรือขงเบ้ง ตัวละครที่โดดเด่นจากวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์จีนเรื่อง สามก๊ก) แทนจางเกาลี่ และ “ผูซ่า” (菩萨 หมายถึง พระโพธิสัตว์) แทนเผิงไซว่ เพื่อถกเถียงพูดคุยเรื่องนี้กันต่อ ที่คนให้ความสนใจกันมากเพราะการออกมาเปิดโปงของเผิงไซว่เป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านการละเมิดสิทธิสตรี “มีทู” (#MeToo Movement) ที่สั่นสะเทือนสังคมเพราะไม่เคยมีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ระดับสูงและทรงอิทธิพลเท่าจางเกาลี่ถูกกล่าวหาในเรื่องอื้อฉาวแบบนี้มาก่อน

ทารานา เบิร์ก ผู้ก่อตั้งขบวนการมีทู ที่มา: AP
เท้าความก่อนว่า ขบวนการมีทู มีที่มาจากนักกิจกรรมชาวอเมริกัน ทารานา เบิร์ก (Tarana Burke) เธอเคยพบเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยพ่อเลี้ยงและพยายามจะเล่าประสบการณ์เลวร้ายให้เบิร์กฟัง แต่เป็นตัวเบิร์กเองที่ไม่พร้อมแบ่งเบาความรู้สึกนั้น สุดท้ายเธอจึงตัดบทและพาเด็กคนนั้นให้ไปหาเจ้าหน้าที่อีกคนที่น่าจะช่วยเธอได้มากกว่า เบิร์กบอกว่าสีหน้าของเด็กคนนั้นที่เปิดเปลือยบาดแผลแต่กลับถูกปฏิเสธที่จะรับฟังยังหลอกหลอนเธออยู่ วินาทีนั้นเบิร์กอยากให้ตัวเองกล้าพูดออกไปว่า “Me Too (ฉันก็ด้วย)”

เบิร์กต่อยอดขบวนการมีทู เพื่อช่วยเหลือและปลอบประโลม “เซอร์ไวเวอร์” หรือผู้ที่ผ่านประสบการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงเปลี่ยนแปลงและต่อต้านระบบโครงสร้างที่เอื้อให้เกิดความรุนแรงทางเพศไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม “เพื่อที่ว่าวันหนึ่งจะไม่มีใครต้องพูดว่า ‘ฉันก็ด้วย’ อีก”

แต่เมื่อปี 2017 #Metoo แพร่หลายไปทั่วโลกเมื่อหญิงสาวหลายคนที่เป็นเหยื่อข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศของ ‘ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน’ (Harvey Weinstein) อดีตโปรดิวเซอร์ฮอลลีวูด บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านแฮชแท็กนี้ ทำให้มีคนให้กำลังใจและเป็นการเปิดพื้นที่ให้เซอร์ไวเวอร์จากทุกช่วงวัย เชื้อชาติ สายอาชีพ ออกมายืนหยัดเพื่อปลดปล่อยตัวเองจากอดีตอันเลวร้าย

เสียนจื่อ หรือโจวเสี่ยวเสวียนในวันขึ้นศาล ที่มา: AP
ส่วนในจีน กรณีมีทูที่ทำให้คนเริ่มตระหนักถึงกระแสนี้คือ ‘โจวเสี่ยวเสวียน’ (周晓璇) หรือนามปากกา ‘เสียนจื่อ’ (弦子) เธอโพสต์เล่าเรื่องราวของตัวเองบนเวยปั๋วเมื่อปี 2018 ว่าเมื่อปี 2014 เธอเป็นนักศึกษาฝึกงานที่สถานีโทรทัศน์กลางแห่งจีน CCTV และถูกพิธีกรตัวเต็งของช่อง ‘จูจวิน’ (朱军) คุกคามทางเพศ

เสียนจื่อไม่คิดว่าโพสต์ของตัวเองจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะขณะนั้นก็มีผู้หญิงหลายคนออกมาแชร์เรื่องราวน่าเจ็บปวดของตัวเอง เพื่อนของเธอคนหนึ่งก็ได้แบ่งปันประสบการณ์บนวีแชต (แอพพลิเคชั่นแชตของจีน) เช่นกัน “ตอนนั้นพวกเรายังมีความอับอายอยู่มาก ฉันจึงบอกเพื่อนว่าสิ่งที่เธอทำมันกล้าหาญและฉันก็อยากจะเขียนเรื่องราวของตัวเองเช่นกัน เพื่อเคียงข้างเธอและแบ่งเบาความรู้สึกละอายนี้ เพื่อนจะได้ไม่รู้สึกว่าที่ตัวเองทำมันสูญเปล่า”

แต่บทความของเสียนจื่อก็กลายเป็นเรื่องฮือฮาเพราะจูจวินเป็นพิธีกรสถานีโทรทัศน์ของรัฐและเคยรับตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการองค์กรทางการเมืองอีกหลายครั้ง ถือว่ามีอิทธิพลและเป็นที่นับถือในวงการ ขณะเกิดเหตุเสียนจื่อเองก็ไม่กล้าสู้อย่างเต็มแรงเพราะกลัวว่าหากจูจวินไม่พอใจจะส่งผลร้ายต่อการฝึกงานของเธอ จึงได้แต่ปัดป้องและหนีมาในจังหวะที่พนักงานคนหนึ่งเข้ามาคุยกับจูจวิน

เมื่อเธอไปแจ้งความในวันต่อมา ตำรวจกลับแนะนำให้เธอเก็บเงียบไว้เพราะจูจวินเป็นบุคคลมีชื่อเสียงและพลังบวกต่อสังคม ตำรวจยังติดต่อพ่อแม่เสียนจื่อให้เตือนลูกสาวไม่ให้เปิดเผยเรื่องนี้ “พวกเขาปฏิเสธตัวตนของฉัน เหมือนมาบอกฉันว่า ‘สิ่งที่เธอรู้สึกและเรื่องที่ทำร้ายเธอสำคัญน้อยกว่าเขา อิทธิพลต่อสังคมของเธอมีน้อยกว่าเขา’ ปี 2014 ฉันเป็นนักศึกษา เลยไม่รู้เรื่องอะไรและก็ยอมแพ้ง่ายเกินไป”

จูจวิน พิธีกร CCTV ที่มา: Weibo
สิ่งที่เสียนจื่อได้จากการโพสต์บทความนั้นคือน้ำใจจากผู้สนับสนุนบนโลกออนไลน์ และคดีหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 650,000 หยวนจากจูจวิน เธอจึงฟ้องกลับด้วยข้อหา “ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล” ที่ใกล้เคียงกับการคุกคามทางเพศมากที่สุด เพราะในขณะนั้นจีนไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ

น่าเศร้าที่เมื่อเดือนก.ย. 2021 ศาลปักกิ่งยกฟ้องคดีที่เสียนจื่อฟ้องจูจวินโดยให้เหตุผลว่าหลักฐานไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับคดีผู้จัดการอาลีบาบาข่มขืนพนักงานหญิง ถึงทางบริษัทจะไล่ออกและผู้ทำผิดถูกจำคุก 15 วัน แต่ศาลก็ยกฟ้องกรณีนี้เช่นกัน คดีความรุนแรงทางเพศน้อยมากที่จะได้ไปถึงขั้นศาลในจีน เพราะจีนตั้งมาตรฐานของหลักฐานไว้สูงมาก เช่น ต้องมีรูปถ่ายหรือวิดีโอ จึงยากที่ผู้ถูกคุกคามทางเพศจะเอาผิดผู้กระทำได้

ซ้ำร้าย บัญชีเวยปั๋วที่เสียนจื่อใช้สื่อสารกับผู้สนับสนุนของเธอก็โดนบล็อก อันที่จริงบัญชีของเฟมินิสต์และนักเคลื่อนไหวหลาย ๆ คนต่างทยอยโดนระงับกันมาตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีนี้ โดยไม่มีสาเหตุหรือคำอธิบายใด ๆ จากทางแพลตฟอร์ม สิ่งนี้ทำให้พวกเธอรวมตัวและพูดคุยกันบนโลกออนไลน์ได้ลำบากอย่างยิ่ง

เสียนจื่อและผู้สนับสนุนที่มาให้กำลังใจ ที่มา: AP
ขณะนี้ไม่มีใครทราบว่าเผิงไซว่อยู่ที่ไหน จางเกาลี่เองก็เกษียณอายุ จึงไม่มีตำแหน่งทางการใด ๆ ในพรรคฯ และคงไม่ได้ปรากฏตัวบนหน้าสื่ออีก จึงเป็นไปได้สูงว่าจะไม่มีการออกมาตอบโต้ใด ๆ ในนามรัฐบาลจีน นักเคลื่อนไหวสตรีนิยมจีน หลี่ว์ผิน (吕频) บอกกับสื่อ SupChina ว่า การเซนเซอร์หยุดคนไม่ให้แอบคุยกันไม่ได้ แต่ยิ่งเรื่องแพร่ไปไกลเท่าไหร่ เผิงไซว่ก็จะปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น

“ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเรื่องนี้ส่งผลระยะยาวอย่างไร แต่มันก็ทำให้เกิดการพูดคุยเป็นวงกว้าง บางคนอาจช็อคและไม่สบายใจกับข้อกล่าวหาของเธอ แต่ฉันว่ามันก็เป็นเรื่องดีนะ ทำให้คนเผชิญหน้ากับความจริง จะได้รู้ว่าบางทีเรื่องจริงมันก็อัปลักษณ์แบบนี้แหละ เรื่องของเผิงจะทำให้คนแคลงใจและเริ่มตั้งคำถามกับรัฐบาล ในอนาคตถ้าทางการทำหรือพูดอะไรคนก็อาจไม่คล้อยตามง่าย ๆ ผู้คนคงไม่แสดงความโกรธออกมาตอนนี้ แต่ถ้าในอนาคตมีอะไรคล้าย ๆ กันเกิดขึ้นอีก คนก็จะหยิบยกเรื่องของเธอขึ้นมา และเผิงไซว่อาจได้รับความเป็นธรรมในที่สุด”

ที่มา:
MeToo | HISTORY & Inception
Xianzi: The #MeToo icon China is trying to silence
Censors go nuclear as tennis player’s MeToo allegations against top official go viral
China feminists face clampdown, closure of online accounts


กำลังโหลดความคิดเห็น